ศธ. สยายปีกสู่เวทีโลก มุ่งเป้ายกระดับการศึกษาด้วย AI พร้อมสร้างความตระหนักรู้แก่เยาวชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา แถลงภาพรวมความคืบหน้าการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ เรื่องความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป 

นายอรรถพล สังขวาสี เปิดเผยว่า การประชุมฯ ในครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน อาทิ UNESCO UNICEF SEAMES World Bank มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการจัดการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเพื่อรองรับเยาวชนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน การมีงานทำ และการพัฒนาขีดความสามารถทักษะชีวิต ในบริบทที่มีสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลง ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

โดยเฉพาะการผลิตกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของการมีงานทำ หลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศไทย ในการขาดแรงงานที่มีทักษะ ประชากรว่างงาน หรือขาดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ การขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคน การอยู่ในสถานประกอบการในห้วงระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียน มากกว่าการอยู่แต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่จะนำมากำหนดเป็นแนวทางและนโยบายในการจัดการศึกษาในอนาคต 

นอกจากนี้ในเรื่องของการส่งเสริม รักษาวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป การที่จะทำให้สภาพสังคมมีการเกื้อกูลกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคนั้นมีความแตกต่างกัน การจัดการศึกษาจึงต้องอาศัยความร่วมมือในการส่งเสริมการศึกษา และอีกสิ่งที่สำคัญคือสถาบันครอบครัว เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ผู้เรียนได้มีการศึกษาที่มีคุณภาพ ในหลายประเทศก็ใช้บทบาทของครอบครัวมาเติมเต็มการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพด้วยเช่นเดียวกัน 

...

การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI ก็เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาครู เพื่อใช้ในกระบวนการเรียนรู้ให้เข้ากับความต้องการของนักเรียนแต่ละคนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยี สนับสนุน และพัฒนาการใช้เทคโนโลยี AI ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี ก็จะเกิดผู้เรียนที่มีคุณภาพในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ Green Education การศึกษาสีเขียว ตามนโยบายของ รมว.ศธ. เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และทักษะในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ยูเนสโกให้คำจำกัดความ ของคำว่า Greening ในบริบทของการศึกษาสีเขียว หมายถึงการปฏิบัติตามความรู้และแนวทางที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อคนในรุ่นปัจจุบันและอนาคต

ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนในทุกวิชาต่อจากนี้ ต้องมีการส่งเสริมในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริบทของประเทศไทยที่มีภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พื้นที่แต่ละภูมิภาคก็มีความแตกต่างกัน จึงต้องเรียนรู้ภูมิศาสตร์ในแต่ละพื้นที่หรือในภาพรวมทั้งประเทศ เป็นองค์ประกอบในวิชาเลือกเสรี เพื่อสร้างความคุ้นชินกับภูมิศาสตร์ของพื้นที่ 

ในโลกการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป เยาวชนส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เข้าไปสู่โลกของการมีงานทำ เยาวชนบางส่วนต้องกลับไปช่วยเหลือครอบครัว มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน สภาพเศรษฐกิจต่างๆ การที่เยาวชนรู้บริบทของพื้นที่ อาทิ รู้ถึงพืชเศรษฐกิจ อาชีพท้องถิ่น วิถีการดำรงชีวิต จากการที่มีการสอดแทรกความรู้ในรายวิชาต่างๆ ก็จะสามารถทำให้เยาวชนมีแนวทางในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต นั้นแสดงให้ถึงการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

"ความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป จะเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่แต่การศึกษาของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงคุณภาพการศึกษาทั่วโลกให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อการพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพเยาวชน พัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อการพัฒนาอนาคตของประเทศ ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างยั่งยืน"

ทั้งนี้ เลขาธิการ สกศ. ได้กล่าวถึงการที่ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมโต๊ะกลมไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 เรื่องความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและการวิจัย (The Third Thai-Russian Roundtable : Collaboration on Gifted Education and Research) 

โครงการจัดประชุมโต๊ะกลมฯ เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษา ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินเยือนรัสเซียเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ทำให้ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะนักวิชาการและสถาบันการศึกษา ตระหนักถึงศักยภาพของรัสเซียในด้านการศึกษา วิจัย และการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษจึงเป็นที่มาของการจัดประชุมโต๊ะกลมครั้งนี้

การประชุมโต๊ะกลมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำหรับเด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยจะมีการจัดงานในช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่จะถึงนี้ จึงอยากขอเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายที่สนใจเข้าร่วม สำหรับวัน เวลา และสถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว จะแถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงให้ทุกท่านได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง

ในการนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ นโยบายการศึกษาในสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป.