เตรียมตัวให้พร้อม เริ่ม 8 โมงเช้า 1 ส.ค. 67 เปิดให้ลงทะเบียน รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สำหรับคนที่มีสมาร์ทโฟน ผ่านแอปฯ "ทางรัฐ" ตลอด 24 ชม. จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 67

หมดเวลารอคอย หลังรัฐบาล ประกาศให้คนไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ประมาณ 50 ล้านคน ลงทะเบียนรับสิทธิ "โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้

  • จะต้องเป็นประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
  • มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน อายุเกิน 16 ปี คือจะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2567
  • ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว เมื่อ 31 ธ.ค. 2566 และนับรวมทุกรายได้ที่ยื่นในระบบภาษี (เงินเดือน, ค่าจ้าง, ค่างานฟรีแลนซ์, ค่ารับเหมา, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย ปันผล, ลิขสิทธิ์ต่างๆ)
  • มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท นับยอดบัญชีเงินฝากถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยต้องเป็นเงินฝากสกุลเงินบาทในธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐเท่านั้น ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์

ซึ่งผู้ที่เข้าเงื่อนไข แต่เป็นบุคคลที่มีคดีความกับภาครัฐ เคยมีพฤติกรรมทุจริตในโครงการรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง หรืออื่นๆ 2,000 ราย จะไม่ได้รับสิทธิ์ดิจิทัลวอลเล็ต และหากบุคคลใดที่ได้รับสิทธิ์แล้ว ทำผิดเงื่อนไข เช่น การแลกเป็นเงินสด ระบบสามารถตรวจสอบการทุจริตได้ทันที และจะตัดสิทธิ์ทันที พร้อมขึ้นบัญชีดำ มิให้รับสิทธิ์โครงการอื่นๆ ของรัฐอีก เช่นกัน

ในส่วนของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 16 กันยายน - 15 ตุลาคม 2567 ณ สถานที่ที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งจะมีการแจ้งระบุสถานที่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

...

ดาวน์โหลดแอปฯ "ทางรัฐ" ลงทะเบียนขอรับเงินดิจิทัล

ทั้งนี้ก่อนที่จะถึงวันลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เงินดิจิทัล ทางรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียน เพื่อยืนยันตัวตน (KYC) ไว้ก่อน ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ซึ่งเป็นแหล่งรวมบริการภาครัฐเพื่อประชาชน หรือ Super App พัฒนาโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ที่รับรองมาตรฐานความปลอดภัย

ผู้ใช้งานจึงต้องลงทะเบียน และพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) เช่นเดียวกับแอปฯ ของธนาคาร ทั้งการสแกนบัตรประชาชน และสแกนใบหน้า หลังจากนั้นจึงจะสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ในแอปฯ ทางรัฐได้ สามารถดาวน์โหลด โดยค้นหาคำว่า "ทางรัฐ" ได้ทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการ ได้แก่

จากนั้นให้สร้างบัญชีและเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐได้ก่อน หากสแกนใบหน้าไม่ผ่าน สามารถสร้างบัญชีและเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐได้ แล้วค่อยทำการสแกนใบหน้าภายหลัง โดยกดที่ปุ่ม "สร้างบัญชี" และทำตามขั้นตอนต่อไป

ยืนยันตัวตน แอปฯ ทางรัฐ

สำหรับการลงทะเบียนนั้นแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" จะมีการยืนยันตัวตน 2 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 การยืนยันตัวผ่านการถ่ายบัตรประชาชนลงในแอปพลิเคชัน ในการยืนยันตัวตนนี้จะสามารถใช้บริการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐได้ทันที ซึ่งขั้นตอนง่ายมาก เพียงถ่ายรูปบัตรประชาชน และถ่ายภาพหน้าตรงตามขั้นตอนที่ระบุในแอปพลิเคชัน ก็สามารถเข้าใช้งานบริการได้เลย

ระดับที่ 2 การยืนยันตัวตนผ่านทางจุดให้บริการยืนยันตัวตน สำหรับในบางบริการที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวตนเพิ่มเติม อย่างเช่น การตรวจสอบเครดิตบูโร ทางแอปพลิเคชันจะต้องขอยกระดับการพิสูจน์ตัวตนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันว่าเจ้าของบัตรประชาชนกับผู้ที่ยืนยันตัวตนเป็นคนเดียวกัน

การยืนยันตัวตนนั้น สามารถทำได้ผ่าน 5 ช่องทางดังนี้

1. ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ : จะเป็นตู้คีออส ที่ให้บริการทั้งด้านข้อมูลและการลงทะเบียนต่างๆ ซึ่งตู้นี้จะสามารถใช้ในการยืนยันตัวตนกับแอปพลิเคชัน ทางรัฐ ได้ โดยจะต้องเตรียมบัตรประชาชนและโทรศัพท์มือถือเพื่อดำเนินการยืนยันตัวตน เมื่อได้ยืนยันตัวตนตามขั้นตอนที่แจ้งผ่านตู้แล้ว จะได้รับ QR Code เพื่อสแกนใช้งานแอปพลิเคชันทางรัฐ ถือว่าการยืนยันเสร็จเรียบร้อย สำหรับวิธีการยืนยันตัวตนผ่านตู้บริการอเนกประสงค์ของภาครัฐ ทำได้โดยการเตรียมบัตรประชาชนให้พร้อม จากนั้นเสียบบัตรเข้าไปที่ตู้บริการ เลือกเมนูเปิดใช้งาน “ทางรัฐ” แล้วทำตามวิธีบนหน้าจอ เท่านั้นก็สามารถยืนยันตัวตนได้

2. แอปพลิเคชันจากกรมการปกครอง : ที่พัฒนาขึ้นเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ในชื่อว่า D.DOPA ก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถยืนยันตัวตนได้ง่ายๆ นอกจากจะใช้ยืนยันตัวตนกับแอปฯ ทางรัฐแล้ว แอปฯ นี้ยังสามารถจองคิวใช้บริการกับทางภาครัฐอย่างสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นทั่วประเทศได้อีกด้วย สำหรับการยืนยันตัวตนแอปฯ ทางรัฐด้วย D.DOPA หากเคยลงทะเบียนใช้บริการกับทางแอป D.DOPA ก็สามารถลงทะเบียน “ทางรัฐ” ด้วยการกดที่ปุ่ม “เข้าสู่ระบบด้วย D.DOPA” ได้เลย

3. ตู้บุญเติม : เป็นอีกช่องทางที่สะดวกยิ่งขึ้นด้วยการยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติม เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้สังเกตตู้บุญเติมที่มีกล้องเล็กๆ ติดอยู่ที่ด้านบนของตู้ จะมีให้บริการยืนยันตัวตน e-KYC ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ วิธีการยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติม เพียงแค่เตรียมบัตรประชาชนและโทรศัพท์มือถือให้พร้อม จากนั้นเลือกเมนู “ทางรัฐ” บนหน้าจอ ตู้ก็จะแนะนำให้เสียบบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน และระบบจะส่ง SMS เพื่อดำเนินการต่อในแอปพลิเคชันทางรัฐได้ทันที สำหรับตู้บุญเติมได้มีการเปิดให้บริการทั่วประเทศ โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตู้บุญเติมใกล้บ้านได้ทาง Call Center 1220 หรือสามารถตรวจสอบตู้บุญเติมที่สามารถยืนยันตัวตนใกล้บ้าน ได้ที่เมนู “สมัครที่ตู้บุญเติม” บนแอปฯ ทางรัฐ

4. ไปรษณีย์ไทยทุกสาขา เราสามารถยืนยันตัวตนได้ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา โดยเตรียมบัตรประชาชนและโทรศัพท์มือถือ และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ได้เลยว่าต้องการยืนยันตัวตนแอปพลิเคชันทางรัฐ หลังจากนั้นจะได้รับ SMS ที่ส่งลิงก์เพื่อให้ดำเนินการต่อทางแอปฯ เท่านี้ก็ดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยทันที

5. เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-Eleven ช่องทางใหม่ที่เพิ่งเปิดให้ยืนยันตัวตน ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 ที่มีกว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ ก็สามารถยืนยันตัวตนแอปฯ ทางรัฐได้ เพียงกดที่เมนู “ยืนยันตัวตนที่ 7-Eleven” ระบบจะให้เราระบุเลขบัตรประชาชน และ หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อสร้างเป็น QR Code จากนั้นแจ้งกับพนักงานที่สาขาว่าต้องการยืนยันตัวตนแอปฯ “ทางรัฐ” พนักงานก็จะสแกน QR Code ซึ่งระบบจะส่ง SMS เพื่อให้เรายืนยันตัวตนผ่านทางแอปฯ “ทางรัฐ” เท่านี้การยืนยันตัวตนก็เสร็จเรียบร้อย.