"หมอยง" ย้ำโรค RSV เป็นแล้วเป็นได้อีก ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ ไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อใหม่ได้ ต้องรักษาตามอาการ พร้อมแนะวิธีการป้องกัน

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเรื่อง "RSV การดูแลรักษา และป้องกัน" โดยระบุว่า 

"RSV เป็นแล้วเป็นอีกได้ ทั้งนี้เพราะภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ ไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อใหม่ได้ เช่นเดียวกับโรคโควิด-19 ภูมิต้านทานที่มีอยู่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลง ดังนั้นโรคนี้จึงมีความรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และได้รับภูมิต้านทานส่งต่อจากมารดาในระดับต่ำ ในเด็กที่คลอดปกติ จะได้รับภูมิต้านทานส่งต่อจากมารดา และภูมินี้จะลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือระดับต่ำมากเมื่อประมาณ 6-7 เดือน 

หลังจากนั้นเด็กก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ การติดเชื้อครั้งแรกหรือเกิดขึ้นในขวบปีแรกบางคนจะมีอาการเด่นชัด ค่อนข้างมาก และเมื่อติดเชื้อไปหลายๆ ครั้ง ความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะลดลง เช่น ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ก็มีการติดเชื้อซ้ำได้บ่อยๆ แต่เราไม่ค่อยได้ตรวจกัน ในเด็กที่โตถึง 5 ปี หลายคนจะเป็น RSV ถึง 3 หรือ 4 ครั้งมาแล้ว ความรุนแรงของโรค ในกลุ่มเปราะบาง คือผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ถึงแม้ในกลุ่มนี้จะเคยเป็น RSV มาแล้วหลายครั้งก็ตาม 

การรักษา เป็นการรักษาตามอาการ ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะสำหรับ RSV ไม่มียาที่กินแล้วป้องกันไม่ให้เกิดอาการหลัง RSV การป้องกันด้วยภูมิต้านทานสำเร็จ หรือที่เรียกว่า antibody ที่ใช้อยู่จะเป็น monoclonal antibody จะมีข้อบ่งชี้ให้ใช้ในกลุ่มเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวและเปราะบาง จะต้องให้ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นคงอยู่ตลอดระยะเวลา 5 เดือนในฤดูกาลการระบาดคือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงพฤศจิกายน ยามีราคาแพงมาก และที่ใช้อยู่ภูมิต้านทานคงอยู่ระยะสั้นต้องให้ทุกเดือนตลอดระยะเวลา 5 เดือน จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก 

...

สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ในต่างประเทศมีวัคซีนใช้ในการป้องกัน แต่ยังไม่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ส่วนภูมิต้านทานสำเร็จรูปที่กันได้ระยะยาว 4-6 เดือน กำลังจะขึ้นทะเบียนในประเทศไทย แต่ก็คงจะมีราคาที่สูงมาก".

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan