รู้จักโครงการ "School Satellite" การแข่งขันสร้างดาวเทียมสำหรับเยาวชนไทยทั่วประเทศ เรียนรู้งานจากผู้เชี่ยวชาญ ข่าวดีเปิดรับปี 2 ตั้งแต่วันนี้ - 16 ส.ค. 67
ในงาน อว.แฟร์ 2024 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 22-28 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมานั้น ใครที่ไปร่วมงานจะพบว่ามีกิจกรรมที่น่าสนใจ รวมไปถึงการจัดแสดงผลงานและนวัตกรรมใหม่ๆ จำนวนมาก
รวมไปถึงการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "School Satellite Competition 2024 ปี 2" ภายใต้แนวคิด "การติดตามสิ่งแวดล้อมทั่วโลกด้วย Cubesat (Global Environmental Survellance)" จัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. (GISTDA) เพื่อผลักดันเยาวชนของชาติให้ตระหนักรู้และสนใจในเทคโนโลยีอวกาศและการสำรวจอวกาศ ซึ่งผู้ที่มาร่วมโครงการนี้จะได้รับโอกาสการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ
ที่มาโครงการ "School Satellite"
สำหรับ "School Satellite" เป็นโครงการที่จัดการแข่งขันการสร้างดาวเทียมสำหรับเยาวชนไทย สืบเนื่องจากในอดีต "ดาวเทียม" ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นการที่บุคคลทั่วไปจะเข้าถึงเทคโนโลยีดาวเทียมนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากต้องอาศัยองค์ความรู้ บุคลากร และงบประมาณที่ค่อนข้างสูง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสามารถในการเข้าถึงองค์ความรู้ และการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพียงพอ ทำให้ประเทศและหน่วยงานต่างๆ สามารถพัฒนาดาวเทียมเป็นของตนเองได้ โดยมีราคาที่ถูกลง พร้อมกับพัฒนาขีดความสามารถของการสำรวจอววกาศ ทั้งในด้านองค์ความรู้และบุคลาการในประเทศได้
โดยทาง GISTDA เองก็ได้ส่งวิศวกรไทยไปรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาดาวเทียม และร่วมออกแบบดาวเทียม THEOS-2A ซึ่งดำเนินการร่วมกับบริษัท Surrey Satellite จากสหราชอาณาจักร เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมาตรฐานระดับ Industrial Grade ดวงแรก ซึ่งมีกำหนดออกเดินทางสู่อวกาศในช่วงต้นปี 2024
...
เมื่อประเทศไทยมีวิศวกรดาวเทียมที่มีองค์ความรู้และความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ GISTDA จึงได้เริ่มโครงการ "School Satellite" เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ ทักษะ และกระบวนการพัฒนาดาวเทียม ให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่สนใจในเทคโนโลยีอวกาศ โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งก็คือโครงการ "School Satellite Competition 2023"
ในครั้งนั้นมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จำนวน 10 ทีม จากทั้งสิ้น 69 ทีม ทั้งจากระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา เข้าร่วมติวเข้ม ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (AIT) อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และวังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า โครงการ "School Satellite Competition 2024 ปี 2" จะเป็นการเน้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ลงมือออกแบบและสร้างดาวเทียมด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจได้ศึกษาเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ เข้าใจกระบวนการพัฒนาดาวเทียมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ตั้งแต่การวางแผน ออกแบบ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ จนกระทั่งการสร้างและทดสอบดาวเทียมเพื่อปฏิบัติภารกิจจริง
นอกจากจะได้พัฒนาความรู้ทางทฤษฎีแล้ว ยังได้ฝึกทักษะการปฏิบัติงานจริง รวมถึงทดสอบดาวเทียมจริงๆ ภายในศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ กับพี่ๆ วิศวกรไทยที่สร้างดาวเทียม THEOS-2A อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
สำหรับรูปแบบการแข่งขันในปีนี้มีชื่อว่า "Global Environmental Surveillance" เป็นการติดตามสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เป็นภารกิจการสังเกตการณ์ วิเคราะห์ ติดตามการเปลี่ยนแปลง หรือประเมินสถานะของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศสิ่งแวดล้อมทั่วโลกด้วยดาวเทียม Cubesat เพื่อสร้างความเข้าใจ และเพิ่มความสามารถในการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
โจทย์ในครั้งนี้ต้องการเห็นไอเดียของเยาวชนไทยสำหรับการประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ การสร้างดาวเทียม Cubesat จะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก สามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายโอกาสให้เยาวชนไทยได้สร้างสรรค์ผลงานและประสบการณ์ที่โดดเด่น เพื่อเป็นแนวทางสู่สายอาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศในอนาคตต่อไป
เปิดรับสมัครทีมที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันตั้งแต่วันนี้ – 16 สิงหาคม (ปิดรับเวลา 23.59 ของวันที่ 16 สิงหาคม 2567) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่นี่ (คลิก)
สามารถศึกษารายละเอียด และดาวน์โหลดแบบฟอร์มโครงการได้ที่นี่ (คลิก)