"อ.เจษฎา" ชี้ "ไซยาไนด์" ฆ่าปลาหมอคางดำได้จริง แต่ในทางปฏิบัตินั้น อาจกระทบต่อสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย ซ้ำระบบนิเวศ อาจไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม

วันที่ 26 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของ "ปลาหมอคางดำ" ที่แพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในพื้นที่ทางภาคใต้ โดยบอกว่ามาตรการที่นำมาใช้กำจัด ไม่ว่าจะเป็นการส่งนากและปลานักล่าไปจัดการ จับมาทำเมนูอาหาร แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรือทำน้ำหมักชีวภาพ อาจไม่ทันการณ์

เนื่องจาก "ปลาหมอคางดำ" เกิดง่ายตายยาก และยังอึดทนปรับสภาพอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้ง น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำเน่า ทำให้แพร่พันธุ์ได้เร็วเหมือนกองทัพปิศาจที่คืบคลานแบบไม่มีที่สิ้นสุด

และว่า หากสถานการณ์เกินเยียวยา "การใช้ไซยาไนด์" อาจเป็นมาตรการสุดท้าย หรือทางเลือกสุดท้ายที่จำเป็นต้องนำมาใช้ในการกำจัด "ปลาหมอคางดำ" วิธีนี้อาจดูโหดร้ายแต่เด็ดขาด และสามารถทำได้จริง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข เช่น ต้องเป็นพื้นที่ที่ระบาดหนัก มีการบล็อกพื้นที่ต้นน้ำปลายน้ำ และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขควบคุมเฉพาะ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม วิธีนี้อาจต้องยอมแลกกับปลาไทยที่จะตายไปพร้อมกัน แต่ไม่น่าห่วงเพราะสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยลงไปใหม่ได้ไม่ยาก 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Jessada Denduangboripant" ระบุว่า ไซยาไนด์ ฆ่าปลาหมอคางดำได้จริง ... แต่ผลกระทบน่าจะรุนแรง

คือตามคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์อภินันท์ บอกเชิงกังวลว่า มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้กำจัดปลาหมอคางดำอยู่ในขณะนี้นั้น อาจจะไม่ทันการณ์ เพราะปลาหมอคางดำเกิดง่าย ตายยาก อึดทน แพร่พันธุ์ได้เร็ว แพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าควบคุมไม่ได้ อาจขยายพันธุ์ข้ามไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีกไม่นาน จะขึ้นไปถึงชัยนาทและนครสวรรค์ อย่างแน่นอน

...

อาจารย์เลยเสนอว่า หากสถานการณ์ "เกินเยียวยา" ก็อาจใช้ไซยาไนด์เป็น "มาตรการสุดท้าย" ในการกำจัดปลาหมอคางดำ แต่ต้องอยู่เป็นพื้นที่ที่ระบาดหนัก มีการบล็อกพื้นที่ต้นน้ำปลายน้ำ และต้องควบคุมเฉพาะ ไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

โดยอาจารย์ระบุด้วยว่า โครงสร้างทางเคมีของไซยาไนด์เป็นประจุลบ (หมายถึงไปจับกับสสารอื่นในน้ำ ตกตะกอน สลายตัวไปได้) พบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว และจะไม่มีการตกค้าง ไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เป็นอีกหนึ่งแนวทาง ที่จะลดความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศและทรัพยากรแหล่งน้ำ ได้อย่างเห็นผล

ซึ่งก็ให้ความเห็นว่า ในทางทฤษฎีนั้น เป็นเรื่องจริงที่การใส่สารไซยาไนด์ลงไปในแหล่งน้ำ จะสามารถฆ่าปลาหมอคางดำได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสารไซยาไนด์ แต่ยังรวมถึงสารเคมีอื่นๆ ที่เคยมีการใช้ "เบื่อปลา" กันในอดีต หรือพวกสมุนไพร เช่น "โล่ติ๊น" (หรือ ต้นหางไหล) ก็สามารถใช้กับปลาหมอคางดำได้

แต่ในทางปฏิบัตินั้น ก็ต้องมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน ที่จะต้องได้รับสารพิษนี้ ตายตามปลาหมอคางดำนั้นไปด้วย และจะทำให้ระบบนิเวศของแหล่งน้ำดังกล่าวที่ใช้ เกิดความเสียหายอย่างหนักได้ ถ้าจะพอใช้ได้ ก็คงต้องเป็นพื้นที่ปิด เป็นบ่อน้ำบ่อปลาส่วนบุคคล ไม่ควรเป็นพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำสาธารณะ

สอดคล้องกับที่อาจารย์อภินันท์ ก็บอกไว้เช่นกันว่า ต้องมีการศึกษาเรื่อง "ปริมาณที่เหมาะสม" กับพื้นที่แหล่งน้ำ ที่จะดำเนินการ และระยะเวลาปลอดภัย ที่จะกลับเข้าไปฟื้นฟูด้วย แต่ผมเห็นต่างจากอาจารย์ ตรงที่อาจารย์บอกว่า "ไม่น่าห่วง เพราะสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยลงไปใหม่ได้ไม่ยาก"

ซึ่งผมเห็นต่างว่า มันยากนะครับ ที่เมื่อเราทำลายระบบนิเวศที่ไหนแล้ว จะให้มันกลับมาสมบูรณ์ มีความหลากหลายเหมือนเดิมได้

จริงๆ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการรณรงค์จับและทำลายปลาหมอคางดำกันขนาดใหญ่ ในช่วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ (หลังจากที่ไม่เคยทำกันมาเลยหลายปี) เริ่มเห็นได้ชัดเจนว่า ได้ผลจริง จำนวนประชากรปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่ออนุญาตให้ใช้เครื่องมือจับปลาเฉพาะ เช่น พวกเรืออวนรุน ก็จับได้เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

ที่ติดขัดกันอยู่ตอนนี้ และน่าจะทำเพิ่มก็คือ การอนุญาตให้จับปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตอภัยทานของวัด (ซึ่งยังติดข้อกฎหมาย และความเชื่อทางศาสนา) กับการอนุญาตให้ใช้ เครื่องช็อตไฟฟ้า (ซึ่งติดข้อกฎหมายเช่นกัน แต่จะมีประโยชน์มาก ในพื้นที่ที่เรือไม่สามารถเข้าไปได้ง่าย) ถ้าเพิ่มอีก 2 อย่างนี้ได้ ก็น่าจะกำจัดปลาหมอคางดำได้ผลขึ้นอีกเยอะครับ

สุดท้ายขอเพิ่มข้อมูลจากงานวิจัยในต่างประเทศ ถึงการทดลองใช้สารพิษไซยาไนด์ กับ "ปลานิล" (เนื่องจากมีการลักลอบใช้กันอยู่) เพื่อดูว่ามีตกค้างในปลามากน้อยแค่ไหน เผื่อมีการนำไปบริโภคกัน

จากบทความ Toxicity and stability of sodium cyanide in fresh water fish Nile tilapia โดย Enas M. Ramzy ในวารสารวิจัย Water Science ฉบับ
Volume 28, Issue 1, October 2014, Pages 42-50

ทำการศึกษาผลของสารโซเดียมไซยาไนด์ ความเข้มข้น 0.129 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของปลานิล เมื่อเลี้ยงไป 28 วัน โดยดูการทำงานจากเอนไซม์ adenosine triphosphatase (ATPase) ในอวัยวะของปลา คือ ที่เส้นเหงือก ตับ และกล้ามเนื้อ /รวมถึงระดับความเสถียรของสารไซยาไนด์ ที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของปลาซึ่งเก็บแช่เย็นไว้

พบว่า ปลามีพฤติกรรมที่ผิดปรกติไป โดยภายใน 14 วันแรกของการเลี้ยงนั้น ปลาสูญเสียสมดุลร่างกาย มีการหลั่งเมือกออกมามากเกิน ที่บริเวณเส้นเหงือกและผิวหนัง

ยิ่งไปกว่านั้น สารโซเดียมไซยาไนด์ ได้ลดปฏิกิริยาของสารเอนไซม์ ATPase ของเนื้อเยื่อที่ทำการศึกษา ตามช่วงเวลาที่ผ่านไป และค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของไซยาไนด์ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อปลาแช่แข็ง ก็ลดลงเรื่อยๆ โดยไซยาไนด์ในกล้ามเนื้อและตับของปลานั้น หายไปหมดในเวลา 48 ชั่วโมง และในเลือดและเหงือกปลาแช่แข็งนั้น จะหายไปหมดใน 72 ชั่วโมง.

ที่มาจาก Jessada Denduangboripant