เปิดคุณสมบัติร้านค้าที่ร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมวิธีจ่ายเงิน ย้ำร้านค้าที่จะสามารถถอนเงินสดได้ เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 มีรายงานว่า หลังจากรัฐบาลได้แถลงข่าวใหญ่ "โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต" ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยจะเปิดลงทะเบียนสำหรับประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน ในวันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 โดยดำเนินการผ่านแอปฯ "ทางรัฐ" ส่วนประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน - 15 ตุลาคม 2567 

สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยครอบคลุม 878 อำเภอ ในการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ที่จะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ

หลังจากประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับสิทธิแล้ว ประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าจะใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ ในพื้นที่ระดับอำเภอทั่วประเทศ (878 อำเภอ) โดยมีวิธีการใช้จ่าย ดังนี้

1. การชำระเงินภายใต้โครงการฯ เป็นแบบพบหน้า (Face to Face) โดยจะต้องตรวจสอบจาก

  • ที่อยู่ของร้านค้าเป็นไปตามที่ลงทะเบียนไว้กับโครงการฯ
  • ที่อยู่ของประชาชนที่ใช้สิทธิตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ และ ขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์

2. ประชาชนจะต้องใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

...

3. ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป

4. เงื่อนไขของสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้

1) สินค้าทุกประเภทเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร

2) การใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงธุรกิจบริการ ทั้งนี้ การปรับปรุงสินค้า Negative List ให้เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ พิจารณากำหนด (เงื่อนไขของสินค้า ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า และการใช้จ่ายระหว่างร้านค้า)

5. วิธีการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้ ดังนี้

รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก

1) ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

2) ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง

3) เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก

4) การซื้อ-ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใดๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อหรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ในแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว

รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า

1) ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง

2) ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง

6. ร้านค้าที่จะสามารถถอนเงินสดได้ เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ได้แก่

1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ

1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ

1.3 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

เว้นแต่ร้านค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีข้างต้นต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี ดังนี้

1. กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2565 และ 2566 ติดต่อกัน 2 ปี

2. กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการน้อยกว่า 2 ปี จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ติดต่อกันตั้งแต่เริ่ม ประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน

3. ร้านค้าใหม่ที่ยังไม่ครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในปีภาษีแรกหรือรอบระยะเวลา บัญชีแรกจะพิจารณาจากการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น

2. ร้านค้าต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์แบบรายเดือนในการลงทะเบียนรับสิทธิ.