อัปเดตความคืบหน้า "โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท" ล่าสุด พร้อมรายละเอียดเงื่อนไข กำหนดลงทะเบียน การจ่ายเงิน เช็กรายชื่อสินค้าอะไรบ้างที่ซื้อไม่ได้ พร้อมตอบคำถามที่พบบ่อย
โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยครอบคลุม 878 อำเภอ ในการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ที่จะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจ เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนเป็นการวางรากฐานโครงสร้างรัฐบาลดิจิทัลซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำธุรกรรมกับภาครัฐผ่านช่องทางดิจิทัลในอนาคต
เงื่อนไขผู้มีสิทธิรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใครได้บ้าง
คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีดังนี้
...
- ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- สัญชาติไทย
- มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
- ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ
กำหนดวันลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท
1. กลุ่มกลุ่มใช้สมาร์ทโฟน : 1 ส.ค. 2567
การลงทะเบียนประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” บนสมาร์ทโฟน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิในโครงการฯ ดังนั้น ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45-50 ล้านคน
2. กลุ่มบุคคลที่ไม่ใช้สมาร์ทโฟน : 16 ก.ย. 2567
การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 กันยายน - 15 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
สำหรับการใช้จ่ายนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน ดังนั้นการลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ทโฟนก่อนเป็นอันดับแรก
เงินดิจิทัล 10,000 ซื้ออะไรได้บ้าง
- สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร, ไข่ไก่, เครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) สบู่, ยาสีฟัน, ผงซักฟอก, กะปิ, น้ำปลา, ซอสปรุงรส เป็นต้น
- สินค้าเพื่อการศึกษา เช่น เครื่องแบบนักเรียน, เครื่องเขียน, สมุด, ปากกา, ดินสอ เป็นต้น
- สินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตร เช่น ปุ๋ย, ยาปราบศัตรูพืช, เมล็ดพันธุ์พืช เป็นต้น
- สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผักสด, ผลไม้, อาหารสด, เครื่องจักสาน เป็นต้น
- ยารักษาโรค เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดไข้, ยาแก้ท้องเสีย เป็นต้น
เงินดิจิทัล 10,000 ซื้ออะไรไม่ได้บ้าง
- สลากกินแบ่งรัฐบาล
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม
- บัตรกำนัล บัตรเงินสด
- ทองคำ
- เพชร พลอย อัญมณี
- น้ำมันเชื้อเพลิง
- ก๊าซธรรมชาติ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- เครื่องมือสื่อสาร
ขั้นตอนการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
- รูปแบบที่ 1 การยืนยันตัวตนและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567
- รูปแบบที่ 2 การยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ มาก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2567 แล้ว จึงค่อยมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 ซึ่งจะทำให้คงเหลือขั้นตอนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ที่ง่ายและรวดเร็วกว่า
ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนเตรียมการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐ และทำการยืนยันตัวตนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชัน App Store สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) - (คลิกที่นี่) และแอปพลิเคชัน Google Play สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) - (คลิกที่นี่) บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน
ปฏิทินกำหนดการลงทะเบียนและจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567
ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 โดยวันสุดท้ายของการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนคือวันที่ 15 กันยายน 2567
- 16 กันยายน - 15 ตุลาคม 2567
ลงทะเบียนประชาชน "กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน" อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
- 1 ตุลาคม 2567
ลงทะเบียนร้านค้า โดยจะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติมเพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้ทราบต่อไป
- เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้ได้เมื่อไหร่
เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
- วิธีการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้ ดังนี้
รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก
1. ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
2. ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
3. เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก
4. การซื้อ-ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใดๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อหรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ในแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว
รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
1. ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง
2. ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- หากไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยื่นอุทธรณ์ได้ไหม?
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า เมื่อตรวจสอบสิทธิการลงทะเบียนแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับสิทธิ ทางระบบจะแจ้งว่า ท่านไม่ผ่านเงื่อนไขในกรณีใด โดยจะมีคำแนะนำว่า ควรแก้ไขอย่างไรในการอุทธรณ์ หากท่านแก้ไขต้นทางได้ แล้วตรวจสอบสิทธิอีกครั้งก็จะผ่าน แต่หากแก้ไขต้นทางไม่ได้ เมื่อตรวจสิทธิก็จะไม่ผ่านเหมือนเดิม ซึ่งเป็นกลไกปกติ
ยกตัวอย่าง : กรณีระบบแจ้งว่าอายุไม่ถึง 16 ปี ท่านจะต้องไปคุยกับกรมการปกครองว่ามีการบันทึกรายละเอียดถูกต้องหรือไม่ หรือหากเป็นกรณีรายได้เกินกำหนด ระบบจะแจ้งว่าให้ประสานกับกรมสรรพากร เป็นต้น
- พบปัญหาจากการลงทะเบียน ต้องทำยังไง?
สามารถติดต่อ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน เบอร์โทรศัพท์ 1111 โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
- เงินฝากกับสถาบันการเงิน รวมกันเกิน 500,000 บาท นับจากไหนบ้าง?
การตรวจสอบเงินฝาก จำนวน 6 ประเภท ได้แก่
1. เงินฝากกระแสรายวัน
2. เงินฝากออมทรัพย์
3. เงินฝากประจำ
4. บัตรเงินฝาก
5. ใบรับฝากเงิน
6. ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ 1-5 โดยเงินฝากให้หมายถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม
สรุปโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท
1. เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใครได้บ้าง
ประชากรสัญชาติไทย ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยมีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566 และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกินเกิน 500,000 บาท
2. ลงทะเบียนได้ถึงเมื่อไหร่
ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 ส่วนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะให้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนระหว่างวันที่ 16 กันยายน - 15 ตุลาคม 2567
3. เงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้วันไหน
เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 หรือช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2567 โดยสามารถติดตามการกำหนดวันจ่ายเงินและความคืบหน้าต่างๆ ได้ที่ เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์.
อ้างอิง : digitalwallet.go.th