กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง พายุ "พระพิรุณ" ฉบับที่ 7 ขึ้นฝั่งเวียดนามเช้าวันนี้ ไม่กระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของไทย พร้อมอัปเดตพยากรณ์ฝนสะสม 10 วันล่วงหน้า 23 ก.ค.-1 ส.ค. 67
วันที่ 23 ก.ค. 67 มีรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง พายุ "พระพิรุณ" ฉบับที่ 7 โดยระบุว่า เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (23 ก.ค. 67) พายุโซนร้อน "พระพิรุณ" บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 20.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 102 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองไฮฟอง ประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงเช้าของวันที่ 23 ก.ค. 67
พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 23 ก.ค.-1 ส.ค. 67 init. 2024072212 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย : 23-27 ก.ค. 67 ฝนหนักและการกระจายของฝนจะเริ่มน้อยลงบ้าง โดยยังมีฝนบางแห่ง ส่วนด้านรับมรสุม (ระนอง พังงา ภูเก็ต จันทบุรี และตราด) ยังมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ ยังต้องระวังฝนที่ตกสะสม หลังจากที่ฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน ปัจจัยที่ทำให้ยังมีฝนมีเพียงมรสุมที่ยังมีกำลังปานกลาง
28 ก.ค.-1 ส.ค. 67 ฝนจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น จากมรสุมที่มีกำลังแรงขึ้น และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนมีฝนตกหนัก ต้องเฝ้าระวัง ช่วงหน้าฝนยังต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
...
อนึ่งช่วงนี้ (23-26 ก.ค. 67) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกมีพายุโซนร้อน "แคมี (GAEMI)" ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ ส่วนบริเวณอ่าวตังเกี๋ย มีพายุโซนร้อน "พระพิรุณ (PRAPIROON)" เคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝังบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และจะอ่อนกำลังตามลำดับ ทิศทางของพายุทั้ง 2 ลูก ไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย สำหรับฝั่งอันดามันตอนบน มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุม คลื่นลมบริเวณอันดามันตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังแรง ต้องระวัง
(ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่นๆ ร่วมด้วย (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลนำเข้าใหม่))
ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา