ปลัดมหาดไทย เปิดการแข่งขันกีฬาจักรยานขาไถ (Balance Bike) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โรงเรียนมัธยมแพรกษาวิเทศศึกษา จ.สมุทรปราการ
วันนี้ (21 ก.ค. 67) เวลา 08.30 น. ที่โรงเรียนมัธยมแพรกษาวิเทศศึกษา ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการจัดการแข่งขันจักรยานขาไถ (Balance Bike) เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายธูปเทียนแพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำผู้ร่วมพิธีร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงความดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แล้วเป็นประธานประกอบพิธีเปิด พร้อมทั้งรับชมการแสดงของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ชื่อชุดการแสดง "วิทยคีตาแพรกษาพหุพัฒน์" เป็นการแสดงที่สะท้อนการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในทุกด้านทั้งการวิชาการ ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม และการกีฬา พุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และร่วมให้กำลังใจหนูน้อยนักกีฬาจักรยานขาไถ พร้อมมอบรางวัลชนะเลิศ รุ่นอายุ 3 ปี ชาย และรุ่นอายุ 3 ปี หญิง
...
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดแข่งขันจักรยานขาไถ (Balance Bike) เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญยิ่งของชาติและของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยของพวกเรา การที่จะปลูกฝังให้ลูกหลานของเรารักในการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา กระบวนการหรือขั้นตอนที่สำคัญ ต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กปฐมวัย และส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในระดับประถม มัธยม เพื่อก้าวไปสู่ในระดับมหาวิทยาลัย และก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติหรือนักกีฬาอาชีพในอนาคต
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมพัฒนาการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ จำเป็นต้องส่งเสริมตั้งแต่เด็กเล็ก เพราะกีฬาจะมาควบคู่กับการพัฒนาทางร่างกาย ทางกล้ามเนื้อ เพราะถ้าเราไปส่งเสริมให้เด็กเล่นกีฬาตอนโตแล้ว ตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ เด็กจะไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศได้
เช่นเดียวกับทางด้านวิชาการ ที่การจะสอนให้เด็กคนหนึ่งมีทักษะ ความรู้ความสามารถที่เป็นเลิศ ก็ต้องบ่มเพาะ อบรม ด้วยการปลูกฝังการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การค้นคว้า การทดลอง ตั้งแต่เด็กเล็ก เพื่อเติบโตไปสู่อาชีพที่เด็กสนใจ ทั้งหมอ ครู นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือเป็นนักปกครอง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องผ่านการพัฒนาเป็นขั้นตอน
นอกจากนี้ ใน "ด้านจิตใจ" การกีฬาจะส่งเสริมการดำรงชีวิตของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กมีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย มีจิตใจเป็นบวก (Positive) และกีฬาจะทำให้เด็กมีวินัย เพราะการที่จะเป็นตัวแทนเพื่อไปแข่งขันระดับต่างๆ เด็กจะต้องมีวินัยในการฝึกซ้อม ในการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพอนามัย และที่สำคัญที่สุดที่นักกีฬาทุกคนหรือคนที่รักในการเล่นกีฬาจะได้รับ คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คือ "ทำให้เด็กมีสังคมที่ดี" มีเพื่อนฝูง มีพี่น้อง หากไปแข่งในต่างประเทศก็จะเจอเพื่อนต่างชาติ แข่งในประเทศก็จะเจอเพื่อนจังหวัดต่างๆ แข่งในจังหวัดก็จะเจอเพื่อนในอำเภอต่างๆ สังคมวงกว้างก็จะมี สังคมที่เป็นเพื่อนฝูงในโรงเรียนเดียวกันก็จะยิ่งแนบแน่น
นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ได้สนับสนุนกีฬาจักรยานขาไถ เพราะกีฬาจักรยานได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ และจังหวัดสมุทรปราการ ก็มีชื่อเสียงในด้านแชมป์กีฬาจักรยาน เพราะนักเรียนที่โรงเรียนมัธยมแพรกษาวิเทศศึกษานี้เป็นแชมป์ประเทศไทยที่ได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึง 3 ปีซ้อน และได้ไปขี่จักรยานขาไถหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่สนามสราญจิตมงคลสุข เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 โดยมี พลเอก เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการสมาคมฯ เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมให้กีฬาจักรยานได้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับประชาชน
"ขอให้การจัดการแข่งขันครั้งนี้เป็นปฐมบทให้มีการส่งเสริมการแข่งขันกีฬาจักรยานและกีฬาประเภทอื่นๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้คนในจังหวัดสมุทรปราการ ทุกเพศ ทุกวัย ได้ช่วยกันดูแลลูกหลานให้เติบใหญ่ ตนมั่นใจว่า เด็กที่มาแข่งขันในวันนี้กว่า 1,000 คน ในอนาคตต้องมีทีมชาติ ต้องมีนักจักรยานอาชีพผู้สร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัว สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด และประเทศชาติอย่างแน่นอน และขอให้พวกเราทุกคนมั่นใจว่า สิ่งที่เราทำนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย