สพฐ.เดินหน้าต่อโครงการ "สุขาดี มีความสุข" ตามนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" นักเรียน-ครู ยิ้มได้ ถูกใจห้องน้ำสะอาด

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ "สุขาดี มีความสุข" ตามนโยบายของ พลตํารวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" และจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง การเสริมสร้างความสุขและความปลอดภัยของสถานศึกษา 

สพฐ. จึงตระหนักถึงความสำคัญของห้องน้ำในสถานศึกษาที่จะต้องมีความสะอาด ปลอดภัย และเพียงพอต่อการใช้สอย ประกอบกับผลสำรวจเด็กไทยอยากได้อะไรจากระบบการศึกษา พบว่า ห้องน้ำเป็นสถานที่ในโรงเรียนที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุดถึง 96.92% และนักเรียนชอบโรงเรียนที่มีอาคารเรียน ห้องน้ำ บริเวณโรงเรียนสะอาดปลอดภัย (ที่มา Rocket Media Lab ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์) สพฐ. จึงได้เริ่ม Kick off โครงการ "สุขาดี มีความสุข" เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ทุกแห่งทั่วประเทศ

โครงการ สุขาดี มีความสุข มีเกณฑ์มาตรฐานในการดำเนินการตามหลัก 5ส ได้แก่ สะอาด (Clean) คือ การรักษาความสะอาด สุขภัณฑ์ โถส้วม โถปัสสาวะ อ่างล้างมือ และสามารถสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการ โดยให้พื้นห้องน้ำทั้งภายในและภายนอก แห้งอยู่ตลอดเวลา มีกลิ่นหอมน่าใช้ / สะดวก (Convenient) คือ การซ่อมแซม บำรุงประตู ช่องระบายอากาศ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและการจัดวางสิ่งของต่างๆ ให้เป็นระเบียบ เพื่อความสะดวกและปลอดภัย / สบาย (Comfortable) คือ มีระบบน้ำประปา ไฟฟ้า ไฟส่องสว่างทั้งภายในและภายนอก ให้เพียงพอและปลอดภัย / สุขลักษณะ (Hygiene) คือ การดูแลห้องน้ำให้มีบรรยากาศน่าใช้ และรักษามาตรฐานตามที่กรมอนามัยกำหนด เพื่อสุขภาพและอนามัยของผู้ใช้บริการ / สวยงาม (Attractive) คือ การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพทั้งภายในและภายนอกให้เรียบร้อย และเกิดความประทับใจต่อผู้ใช้บริการ

...

จากการดำเนินงานโครงการ "สุขาดี มีความสุข" ทาง สพฐ.ได้ให้โรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศทำการปรับปรุง-ซ่อมแซมห้องน้ำให้มีมาตรฐานถูกต้องตรงตามเกณฑ์การประเมิน และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต กำกับ ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยให้โรงเรียนส่งรูปภาพก่อนและหลังการปรับปรุงห้องน้ำ ให้เห็นผลการดำเนินงานว่าได้ปรับปรุงห้องน้ำตามเกณฑ์ที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งจากจำนวนโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 29,152 โรงเรียน มีโรงเรียนที่รายงานผลการประเมินเข้ามาแล้ว 27,388 โรงเรียน คิดเป็น 93.95% (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2567) โดย สพฐ.จะกำชับเขตพื้นที่ให้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 100%

“สพฐ. ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของนักเรียนและครู จึงได้เร่งติดตามการดำเนินงานโครงการ “สุขาดี มีความสุข” อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งปลูกฝังให้นักเรียนมีความรู้ และรู้จักการใช้ บำรุง ดูแล และรักษาห้องน้ำอย่างถูกวิธี รวมถึงแสวงหาการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม ในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพห้องน้ำในโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะตามบริบทของพื้นที่ต่อไป เพื่อให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยต่อสุขอนามัยที่ดีของนักเรียนและครู ส่งผลให้ “เรียนดี มีความสุข” อย่างทั่วหน้าในทุกพื้นที่ของประเทศ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว