แฮชแท็ก #Saveทับลาน ยังติดเทรนด์โซเชียลต่อเนื่อง ด้านหัวหน้าอุทยานทับลาน เผยตอนนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น ยังไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณา คนในพื้นที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 มีรายงานว่า จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการปรับปรุงแนวเขต "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้เป็นแบบแผนที่ "ONE MAP" มาตราส่วน 1:4,000 ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ ส่งผลให้แฮชแท็ก #Saveทับลาน ยังคงติดเทรนด์ความนิยมในโซเชียล มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง
โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2567 นายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ซึ่งมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ โดยมีนายสมฤกษ์ ศุภมิตรกฤษณา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยนายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน และเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นฯ
...
นอกจากนี้ทุกท่านสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 12 กรกฎาคม 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์ (คลิกที่นี่) โดยมีข้อพิจารณาที่ควรใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็น ดังนี้
1. ท่านเห็นชอบในการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน หรือไม่ อย่างไร
2. เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร
3. มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิม และจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีกระบวนการปรับเปลี่ยนการครอบครองไปอยู่ในมือของนายทุนหรือผู้มีฐานะดี
4. การใช้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกป่าอนุรักษ์เพิ่ม มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่
5. จะเป็นแนวทางที่ใช้ขยายลุกลามให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่นๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่นๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน
6. เป็นการขัดต่อนโยบายการป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศหรือไม่ อย่างไร
7. เป็นการส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานทับลาน กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาของทับลานที่ผ่านมามีสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ช่วงหลังจึงมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาคือ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าแก้ไขเรื่องของการทำแนวแผนที่ One Map ซึ่งเป็นแนวคิดตั้งแต่ปี 2558 คือให้ทุกกระทรวงทำแผนที่ให้ตรงกัน
ปรากฏว่าเมื่อปี 2558 ของแนวที่ของทับลานมีปัญหา โดยรอบฝั่งของ จ.นครราชสีมา ทางเรามีการยืนตามกฎเกณฑ์หลักการของข้อกฎหมาย ขณะที่ทาง สปก. เขามีแนวของเขา ทำให้ถกกันไม่จบ พอไม่จบ จึงแขวนเรื่องเอาไว้ พอมีอนุกรรมการใน คทช. (อนุพิจารณาผล One Map) เขาจึงนำไปพิจารณาใหม่ มีมติให้ใช้เส้นแนวเขตของเมื่อปี 2543 และได้เสนอไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งทาง ครม. ก็เห็นชอบมติของ คทช. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เหมือนมีการประกาศใช้แล้ว เพราะมติของ ครม.เขาเห็นชอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแนว One Map ซึ่งความหมายที่แฝงเข้ามาที่อยู่ในเนื้อหานี้คือ กระทรวงทรัพย์โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะต้องดำเนินการเพื่อให้ปรับไปใช้เส้นนี้
นั่นก็คือแนวเส้นที่กำลังเป็นประเด็นตอนนี้ จะส่งผลให้อุทยานแห่งชาติทับลานจะเหลือตามเส้นสีแดงตามข้อมูลที่ทางเราได้ให้ประชาชนดู จะมีส่วนที่ตัดออกไปออกจากพื้นที่เดิมอยู่ประมาณ 265,000 ไร่ และมีส่วนที่เข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 100,000 ไร่ จากทาง ครบุรี เสิงสาง อยู่เป็นก้อนใหญ่ ประมาณ 85,000 ไร่ คือมีทั้งการเพิกถอนและมีการผนวกเพิ่ม
เมื่อกลายเป็น One Map ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ยากว่าจะต้องทำอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นขั้นตอนของการดำเนินการที่ทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามกฎหมายใหม่ จะต้องทำตามมาตรา 8 วรรค 3 คือต้องมีการรับฟัง ความคิดเห็นจาก 1. ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียคือคนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะต้องถูกตัดออกหรือผู้ที่จะถูกผนวกเพิ่มเข้ามา หน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
2. ฟังความคิดเห็นชุมชนที่เกี่ยวข้อง คือ 1 กม. ที่ถัดออกไปจากแนวเส้น ไม่ว่าจะเป็นเส้นบวมขึ้นมาหรือเส้นลดลงไป จะต้องให้เขามาเอาความคิดเห็นเผื่อมีผลกระทบอะไรกับเขาไหม และ 3. ประชาชนทั่วไป
ตอนนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นยังไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณา คนในพื้นที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ได้รับคำสั่งจากกรมให้มาทำเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น หลังจากนั้นจะได้รวบรวมทำเป็นรูปเล่มเพื่อเสนอกลับขึ้นไป.