กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีเพิกถอนพื้นที่ "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ประมาณ 265,000 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการปรับปรุงแนวเขต "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ตามมติคณะรัฐมนตรี มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่

ซึ่งขั้นตอนในการลงชื่อแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนนั้น ต้องเข้าไปยังลิงก์ที่ทางอุทยานฯ ได้จัดทำไว้ คลิกที่นี่ และเมื่อเข้าไปได้แล้ว จะมีเอกสารข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม ให้ได้อ่าน ก่อนแสดงความคิดเห็น

จากนั้น กรมอุทยานฯ ขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลในการรวบรวม เปิดเผยข้อมูล, กรอกข้อมูลส่วนตัว, เลือกความเกี่ยวข้อง ว่าเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย คือ ประชาชนที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากการปรับแนวเขต อช.ทับลาน โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในหมู่บ้านของเขตตำบลนั้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง คือ ประชาชนที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากการปรับแนวเขต อช.ทับลาน โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านบริเวณหมู่บ้านถัดไปในบริเวณเพิกถอน/ขยาย ในระยะไม่เกิน 1 กม. หรือประชาชนทั่วไป บุคคลธรรมดาทั่วไป แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เพื่อกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ใหม่

...

ถ้าเห็นด้วย เท่ากับยอมรับการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน 265,000 ไร่ ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ยอมรับ เท่ากับไม่ยอมรับการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน 265,000 ไร่ พร้อมกรอกเหตุผล ข้อห่วงใย ความเห็น และข้อเสนอแนะ โดยสามารถแสดงความเห็น ได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2567

อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติทับลาน มีการเสนอแนะข้อพิจารณาที่ควรใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็น ดังนี้

1. ท่านเห็นชอบในการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลานหรือไม่ อย่างไร

2. เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร

3. มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิม และจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีกระบวนการปรับเปลี่ยนการครอบครองไปอยู่ในมือของนายทุนหรือผู้มีฐานะดี

4. การใช้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกป่าอนุรักษ์เพิ่ม มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่

5. จะเป็นแนวทางที่ใช้ขยายลุกลามให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่นๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่นๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน

6. เป็นการขัดต่อนโยบายการป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศหรือไม่ อย่างไร

7. เป็นการส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่ 

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park