ชวนรู้จัก "อุทยานแห่งชาติทับลาน" แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่มีความสำคัญ และป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศไทย หลังเกิดกระแส #Saveทับลาน

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็นระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2567

ทำให้ต่อมากระแสในโลกออนไลน์ได้ติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน จนติดเทรนด์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 โดยหลายคนได้ออกมาคัดค้านเพราะมองว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และฝ่ายของชาวบ้านที่วอนให้เห็นใจ มองว่าเห็นควรให้พิจารณาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อให้สิทธิที่ทำกินกับชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่อุทยานทับลาน

ขณะที่ ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกมาเผยข้อกังวลต่อเรื่องนี้ว่า "การจัดการของภาครัฐในลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อแนวการเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า และเพิ่มความรุนแรงความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น"

ทั้งนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความสำคัญ และมีพื้นที่มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ครอบคลุมพื้นที่ อ.ปักธงชัย อ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

...

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 อุทยานแห่งชาติทับลาน ยังได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อีกทั้งยังได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563

อุทยานแห่งชาติทับลาน ป่าลานแห่งสุดท้ายของไทย

จากข้อมูลของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ในอดีตป่าลานที่อุดมสมบูรณ์มีขึ้นอยู่กระจายทั่วๆ ไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ต่อมาพื้นที่ป่าลานถูกรุกรานจากการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม จนปัจจุบันลงเหลือป่าลานแห่งสุดท้ายที่บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรีบุพราหมณ์ และบ้านวังมืด จังหวัดปราจีนบุรี    

จากตรวจสอบสภาพป่าลาน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2517 พบว่าป่าลานในบริเวณดังกล่าวเป็นป่าลานแห่งสุดท้ายของประเทศ เพื่ออนุรักษ์ป่าลานไว้ จึงมีดำริให้จัดตั้งป่าลานนี้เป็น "วนอุทยาน" มีเนื้อที่ประมาณ 58 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,250 ไร่ และในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 1/2518 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518 ได้มีมติให้ดำเนินการวางแผนปฏิบัติการที่ป่าลานกบินทร์บุรี   

ต่อมาสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรี ได้มีคำสั่งที่ 169/2518 ลงวันที่ 11 เมษายน 2518 และคำสั่งที่ 194/2518 ลงวันที่ 15 เมษายน 2518 ให้นายสุชล ผาติเสนะ นักวิชาการป่าไม้ตรี และนายยัณห์ ทักสูงเนิน พนักงานประจำเขต โดยอยู่ในความควบคุมการดำเนินงานของนายไพโรจน์ เชี่ยวเอี่ยมวัฒนา นักวิชาการป่าไม้โท ไปดำเนินการรังวัดหมายแนวเขตและจัดพื้นที่ปรับปรุงให้เป็น "วนอุทยานป่าลาน" ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแก่งดินสอ-แก่งใหญ่ เขาสะโตน จังหวัดปราจีนบุรี

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 2383/2520 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2520 ให้นายเชาวลิต เลิศชยันตี นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานทับลาน และในปี 2523 กองอุทยานแห่งชาติได้ให้ "วนอุทยานทับลาน" สำรวจพื้นที่โดยรอบ เพื่อผนวกพื้นที่บริเวณใกล้เคียงแนวเขตติดต่อวนอุทยานยกฐานะวนอุทยานทับลานเป็นอุทยานแห่งชาติ

ผลการสำรวจปรากฏว่า บริเวณป่าดังกล่าวโดยรอบมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำมูล ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจที่ กส0708 (ทล)/16 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2523 ทั้งเพื่อเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็น "อุทยานแห่งชาติ"

โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียวและป่าครบุรี ในท้องที่ ต.สะแกราช ต.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย ต.บลครบุรี ต.จระเข้หิน ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี และ ต.สระตะเคียน ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ ต.บุพราหมณ์ ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2524 ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติที่ 40 ของประเทศ

พืชพรรณในอุทยานแห่งชาติทับลาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มาก หากพิจารณาตามประเภทของป่าแล้วสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น เบญจพรรณ และป่าเต็งรัง จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศวิทยาของป่าภาคกลางกับนิเวศวิทยาของป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุมชุม

นอกนี้บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่ ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีต้นลานขึ้นกระจายในพื้นที่อย่างหนาแน่น จึงได้ชื่อว่าป่าลานผืนสุดท้ายที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดของประเทศไทย 

"ต้นลาน" จัดเป็นไม้ตระกูลปาล์ม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตรงและแข็ง ภายในเนื้อเป็นเส้นใย มีใบอ่อนรอบลำต้นเป็นชั้นๆ ก้านใบยาวประมาณ 3-4 เมตร หนึ่งก้านมีหนึ่งใบ ใบกว้างประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นสูงประมาณ 10-26 เมตร

นอกจากนี้ ต้นลาน มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น เป็นต้นไม้ที่มีอายุขัยประมาณ 60-80 ปี เมื่อต้นแก่ก็จะออกดอกและผล ดอกมีสีขาว ซึ่งต้นลานจะออกดอกเพียงครั้งเดียว และเมื่อต้นลานออกดอกก็หมายความว่าต้นลานจะต้องตาย เมื่อเมล็ดร่วงหล่น ต้นลานก็จะเริ่มเหี่ยวเฉา และเหี่ยวแห้งตายลงทันที 

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ผ่านช่องทาง (คลิกที่นี่)

ข้อมูลจาก แฟนเพจ อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park, ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช