"ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ" เผยกลยุทธ์บริหารจุฬาฯ ต้องก้าวล้ำโลก พร้อมนำจุฬาฯ ก้าวสู่ Global Intelligent Hub
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัลพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โลกแห่งการเรียนรู้และการศึกษาก็เช่นกันที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสนี้
บทบาทของมหาวิทยาลัยในวันนี้ไม่ได้จํากัดอยู่เพียงแค่การให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการให้ประสบการณ์ที่มีค่า การบ่มเพาะปัญญา การสร้างกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน เพื่อน อาจารย์ และชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถถูกแทนที่ได้ด้วยการเรียนออนไลน์
มหาวิทยาลัยไม่เพียงแค่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้เรียนสามารถเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมก้าวไปสู่ระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งบทบาทมหาวิทยาลัยยุคใหม่นี้คือจุดยืนของ "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ภายใต้การบริหารงานของ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ ตั้งแต่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
...
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร เป็นผู้มีความผูกพันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่สําเร็จการศึกษาปริญญาตรีบริหารธุรกิจบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และได้ทุนจากจุฬาฯ ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา จากนั้นได้ทุนศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จนกระทั่งดำรงตำแหน่งคณบดีและก้าวสู่ตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ
"การบริหารงานที่จุฬาฯ ไม่ใช่แค่ความผูกพันแต่เป็นความมุ่งมั่น ผมมองว่าการเรียนที่จุฬาฯ ไม่ใช่การศึกษาในระดับปริญญาตรีเท่านั้น แต่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิต หรือ Turning Point ที่สําคัญ" ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว
จุฬาฯ ไม่ใช่แค่สถานศึกษา แต่ยังทําให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอาชีพ มีความก้าวหน้า ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน บทบาทของมหาวิทยาลัยเป็นการให้ชีวิตและสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ นี่คือคุณค่าหลักของมหาวิทยาลัย เมื่อเป็นเช่นนี้มหาวิทยาลัยก็จะไม่ถูก Disrupt จากดิจิทัลได้
การเรียนผ่านออนไลน์ ผู้เรียนจะได้แต่ความรู้ แต่มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้แค่ความรู้ (knowledge-based) แต่ยังให้ประสบการณ์ (experience-based) ปัญญา (wisdom-based) และความชาญฉลาด (Mastery-Based Learning) เป็นการมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่า นั่นคือ Future Focus การให้อนาคตแก่ผู้เรียน
ความรู้ล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดไม่เคยล้าสมัย
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า การบริหารมหาวิทยาลัยและการบริหารระดับคณะ ต้องมุ่งมั่นให้ประสบการณ์แก่นิสิตมากกว่าการให้ความรู้ เพราะ "ความรู้ล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดไม่เคยล้าสมัย" ความรู้ที่ได้จากการเรียน 4 ปี อาจล้าสมัย แต่สิ่งที่ได้คือกระบวนการคิด กระบวนการตอบปัญหา รวมทั้งไหวพริบและปฏิภาณ นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยสอนแต่ในออนไลน์สอนไม่ได้
"การเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัยไม่เพียงให้ความรู้เท่านั้น สิ่งที่ได้คือมิตรภาพ ได้เพื่อน ความสัมพันธ์กับอาจารย์ ความผูกพันกับรุ่นพี่รุ่นน้อง นี่คือคุณค่าหลักของมหาวิทยาลัย"
จุฬาฯ ในสายตาของ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร
เมื่อเราเรียกตัวเองว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําอันดับ 1 ขณะเดียวกันเราต้องกลับมาถามว่าอะไรที่ทําให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนํา ทําให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ซึ่งแท้จริงแล้วจุฬาฯ คือมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย สิ่งที่ทําให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําที่คนอยากเข้ามาเรียนคือเมื่อเข้ามาเรียนแล้วประสบความสําเร็จ สามารถกําหนดอนาคตได้อย่างที่ตัวเองตั้งใจ
สิ่งที่ต้องถามต่อไปก็คือจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําเมื่อเทียบกับใคร? วันนี้จุฬาฯ ไม่ได้เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยด้วยกัน ความเป็นที่ 1 ของจุฬาฯ ไม่ได้หมายความว่าต้องชนะใคร แต่หมายถึงการสร้างคุณภาพที่ทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างพลังให้กับประเทศ คุณภาพการศึกษาของจุฬาฯ ไม่ได้เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งจุฬาฯ เผชิญกับความท้าทายจากต่างชาติมากมายในทุกรูปแบบ ดังนั้นวิสัยทัศน์ในการบริหารมหาวิทยาลัยในยุคนี้ จึงต้องมี Winning Strategy ที่ก้าวล้ำโลก ไม่ใช่แค่ก้าวทันโลก
"เราพูดอยู่เสมอว่ามหาวิทยาลัยต้องก้าวทันโลก ถ้าก้าวทันแปลว่าเขาเดินไปอยู่แล้วเราก็ไปตาม แต่ในวันนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องก้าวล้ำโลก ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้างนิยามของระบบการศึกษาแบบใหม่ที่เป็น Higher Education ที่มีคุณภาพระดับโลกอย่างแท้จริง"
ศ.ดร.วิเลิศ มองว่า การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนําของจุฬาฯ ประเด็นแรกมาจากจุฬาฯ มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับ 107 ปี และมีรากฐานที่แข็งแรงจากนิสิตเก่า ประเด็นที่ 2 คือจุฬาฯ มีการบูรณาการหลากหลายสาขา ดังนั้นในการบริหารมหาวิทยาลัย ทําอย่างไรให้ผู้เรียนมีองค์ความรู้ที่บูรณาการ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เรียนวิศวกรไม่ใช่เป็นผู้ที่รู้แต่การสร้างอุโมงค์ แต่เป็นวิศวกรที่มีทักษะในการบริหารจัดการได้ และดำรงตนในการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีความสุข สิ่งนี้จะทําให้บัณฑิตในยุคนี้มีความรู้รอบด้าน มองแบบองค์รวม (Holistic View) การเรียนการสอนจึงไม่ได้เป็นแค่การปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ได้ใช้สมองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องบูรณาการทั้งความรู้ความฉลาด ความมีไหวพริบ และสามารถปฏิบัติได้ด้วย
ดังนั้นรูปแบบการเป็น Mastery-Based ที่เป็นการเรียน รวมทั้งความรู้ ประสบการณ์จริง และทักษะที่ก้าวล้ำโลกบวกกับความเป็นสากล โดยอาศัยนวัตกรรมเป็นตัวเสริมจะทําให้บัณฑิตในปัจจุบันเข้าใจโลก เพราะฉะนั้นทักษะในโลกอนาคตคงไม่ใช่แค่ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง มิเช่นนั้นจะเกิด Digital Disruption คนจะแห่ไปเรียนออนไลน์กันหมด
วันนี้เราจึงต้องทำให้ผู้ที่มาเรียนที่จุฬาฯ ได้รู้องค์ประกอบของการสร้างความสําเร็จในการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งจะมีตั้งแต่เรื่อง Analytical Skill, Creativity Skill, Technical Skill ที่สําคัญต้องมี Life Skill หรือทักษะในการใช้ชีวิต สามารถประสบความสําเร็จตามแบบฉบับของตัวเองอย่างมีเอกลักษณ์ได้โดยไม่ต้องเลียนแบบใคร
ศ.ดร.วิเลิศ เผยว่า การบริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบันคงจะไม่ได้เป็นเรื่องของ One Size Fits All หลักสูตรเดียวที่ทุกคนจะต้องเรียนเหมือนๆ กัน แต่เรากําลังดีไซน์ชีวิตของลูกศิษย์แต่ละคนให้มีเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของตัวเอง สามารถประสบความสําเร็จและมีความสุข เป็นคนเก่งและคนดี มีความรู้ที่ก้าวล้ำโลก ที่สําคัญที่สุดคือสามารถบูรณาการความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดไปตามวิถีชีวิตแห่งความสุขของตัวเองได้
ภาพลักษณ์ของจุฬาฯ หลายคนมองว่านิสิตเป็นคนไม่ติดดิน แต่จากนี้ไปภาพลักษณ์ของนิสิตจุฬาฯ จะต้องมีความติดดิน เข้าถึงระดับชุมชนและผู้คนระดับเกษตรกร ถ้ามีความรู้ระดับอินเตอร์ เราก็จะไปที่ไกลที่สุดถึงอินเตอร์ ด้วยเหตุนี้จุฬาฯ จึงต้องมีกิจกรรมและโครงการต่างๆ ให้นิสิตประกวดแข่งขันในระดับนานาชาติและระดับโลก ขณะเดียวกัน จุฬาฯ ก็มีกิจกรรมสำหรับให้นิสิตลงไปช่วยเหลือชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ประสบการณ์จริงในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน นี่คือพันธกิจของการบริหารจุฬาฯ 3 ด้าน คือ International Integrated และ Impact ซึ่งจะทําให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดได้โดยมีนวัตกรรมเป็นตัวสนับสนุน ทําให้ภาพรวมของการบริหารมหาวิทยาลัยสมบูรณ์มากขึ้น
ทิศทางของจุฬาฯ จะไปทางไหน
เมื่อถามว่าการจะนำพาจุฬาฯ ไปสู่มหาวิทยาลัยที่ก้าวล้ำโลก จะต้องใช้กลยุทธ์อะไรเป็นอันดับแรก ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า สิ่งแรกที่ทําคือต้องบูรณาการระหว่างจุฬาฯ กับชุมชน จะทําอย่างไรให้พื้นที่ของสยามสแควร์ไม่ใช่เป็นพื้นที่ของการค้าขาย แต่เป็นพื้นที่ที่นิสิตสามารถแสดงออกทางความรู้ความสามารถ เช่น มีการปิดถนน 1 วันให้คนตาบอดมาแสดงความสามารถ ให้เกษตรกรนําของมาขายโดยไม่คิดค่าเช่า
นอกจากนี้ยังมีการสร้าง Social Enterprise และ Startup ให้นิสิตบูรณาการความรู้มาปฏิบัติจริง สิ่งที่ทําได้เลยก็คือการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพราะจุดแข็งของจุฬาฯ คือมีนิสิตเก่าทั่วประเทศไทยที่จะช่วยเสริมพลังให้จุฬาฯ ภายใน และช่วยเหลือสังคมภายนอก
ในการร่วมมือกันนั้น คนอาจจะคิดว่าจุฬาฯ จะต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยด้วยกัน แต่ไม่ใช่ วันนี้สิ่งที่จุฬาฯ ทําก็คือต้องเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยระดับโลกและบริษัทระดับโลก จุฬาฯ วันนี้เราไม่ได้มองเป็นมหาวิทยาลัย แต่เราเป็นศูนย์กลางที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทํางานเพื่อสร้าง Future Global Leaders เพื่อบูรณาการองคาพยพ เพราะวันนี้นิสิตไม่ได้เลือกเรียนอยู่คณะใดคณะหนึ่ง แต่สามารถเป็นนิสิตของทุกๆ คณะในมหาวิทยาลัยได้
คิดอย่างไรกับค่านิยมเรียนมหาวิทยาลัยไม่จําเป็น
ศ.ดร.วิเลิศ มองว่า มหาวิทยาลัยต้องทําตัวเองให้รู้สึกว่าจําเป็น การสร้างคุณค่าให้จำเป็น คนต้องรู้สึกว่าจําเป็นและขาดไม่ได้ ถ้าบอกว่าการเรียนปริญญาตรีไม่จําเป็นเพราะสิ่งที่มหาวิทยาลัยมี ข้างนอกก็มี แต่วันนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหลายอย่างที่เป็นสิ่งจําเป็นสําหรับชีวิตที่คุณไม่สามารถหาจากที่อื่น เป็นสิ่งที่การเรียนออนไลน์ไม่สามารถนําเสนอแบบนี้ได้ ซึ่งจะทําให้คนหันมามองว่าจุฬาฯ ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัย แต่สามารถเปลี่ยนชีวิตของนิสิตได้ นิสิตจะได้รับประสบการณ์จริง ได้มิตรภาพ เป็นผู้สร้าง ไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้
"เราไม่ได้ตําหนิคนที่มองว่ามหาวิทยาลัยไม่จําเป็น แต่เราจะต้องชี้ให้เห็นว่าจุฬาฯ มีมากกว่าความจําเป็น ทำให้นิสิตประสบความสําเร็จตามฝันของตัวเอง และชี้ให้เห็นว่าที่นี่มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด การเรียนในห้องเรียนหากคุณเป็น Lecture based คุณก็สามารถเรียนผ่าน Google ได้ แต่ทุกวันนี้เป็น Mastery Based เป็น Global Based ดังนั้นการเชื่อมโยงกับหลายๆ ภาคส่วนจะทําให้บริบทของการบริหารงานจุฬาฯ เปลี่ยนไป และวันนี้ทุกคนจะต้องเห็นว่าจุฬาฯ มีมากกว่าความจําเป็น จุฬาฯ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่แค่มี แต่เป็นสิ่งที่ปรารถนาและอยากเข้ามาเรียน" ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว
"รูปแบบมหาวิทยาลัยที่เรามองว่าเป็นมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมนั้นหมดไป ทุกวันนี้จุฬาฯ ไม่ใช่แบบเดิม แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้าง ประกอบด้วยนวัตกรรม การบูรณาการ สามารถมีองค์ความรู้ทุกภาคส่วน มีความเป็นสากลก้าวสู่ระดับโลก มีอิมแพ็กต์ต่อสังคม และมีเวทีที่ให้สามารถแสดงออกถึงความสามารถได้อย่างแท้จริง หากเรามีบูรณาการครบองค์ประกอบแบบนี้ จะมีที่ไหนให้แบบนี้ นั่นคือคำตอบว่าทําไมจึงต้องเป็นจุฬาฯ" ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว
ความท้าทายของตําแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ
ศ.ดร.วิเลิศ มองว่า ตําแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ นอกจากจะเป็นตำแหน่งสูงสุดของการบริหารแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของการบริหารอีกด้วย ในการบริหารที่ดีต้องทําให้เป็นวงกลม ไม่ใช่สามเหลี่ยม ทุกคนต้องวิ่งเข้าไปสู่จุดตรงกลาง ทุกการบริหารวิ่งเข้าสู่ตรงกลาง และจากตรงกลางสามารถกระจายออกไปได้
บทบาทของอธิการบดีจุฬาฯ ไม่ได้บริหารคณะใดคณะหนึ่ง ส่วนงานใดส่วนงานหนึ่ง แต่บริหารทุกส่วนงานให้สามารถมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ร่วมกัน การบริหารของจุฬาฯ ไม่เหมือนกับที่อื่น เพราะว่าส่วนงานต่างๆ ไม่ได้เป็นแค่องค์กรการศึกษา เรามีหน่วยงานวิจัย และที่สําคัญเรามีหน่วยงานในการบริหารพื้นที่ทรัพย์สินของจุฬาฯ อีกด้วย โดยมีเป้าหมายสําคัญร่วมกัน นั่นคือการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนและพัฒนาคุณภาพของประเทศไทย
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวถึงการบริหาร portfolio คือการมีหลายๆ บริษัทอยู่ภายใต้ เหมือนกับ holding เราไม่ได้บริหารบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่บริหารทั้งพอร์ตให้สามารถมีพลังร่วมกัน และออกไปสร้างพลังให้กับประเทศ เพราะฉะนั้นวันนี้การบริหารที่ดีไม่ได้อยู่ที่ตําแหน่งสูงสุด แต่อยู่ที่ความสามารถในการเชื้อเชิญโน้มน้าวให้ทุกคนมาร่วมบรรลุเป้าหมายที่เราจะเติบโตถึงระดับนานาชาติสูงสุด และก็สร้างอิมแพ็กต์ต่อสังคมได้มากที่สุด
เพราะฉะนั้นบทบาทของจุฬาฯ ในวันนี้จึงต้องประกอบด้วย Innovation นวัตกรรมที่ทันสมัย วันนี้เราพูดเรื่อง Chat GPT แต่เราจะไม่พูดเรื่อง Chat GPT ที่เป็นนวัตกรรม เราจะไม่เป็นผู้ใช้แ ต่เราจะเป็นผู้สร้างใน version ที่ดีกว่าทุกวันนี้ที่แอปพลิเคชันที่ทุกคนใช้ล้วนเป็นของต่างชาติ
"บทบาทของจุฬาฯ ในวันนี้ที่เราต้องสร้างขึ้นคือไม่ใช่เป็นแค่ผู้ใช้ แต่ต้องเป็นผู้คิด หน้าที่ของอธิการบดีคือทําอย่างไรให้คนรู้สึกว่าเราต้องสร้างอะไรที่เป็นผู้นํา ไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้และเป็นผู้ตาม"
ทิศทางของจุฬาฯ ใน 4 ปีข้างหน้า
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า ปีนี้จุฬาฯ ครบรอบ 107 ปี อีก 4 ปี จะฉลองครบ 111 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเรามองไปไกลถึงวิสัยทัศน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือสิ่งที่จะทําในวันนี้ เราจึงต้องย้อนกลับมาที่ปัจจุบันว่าจะสร้างอะไรที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ เพราะเรากําลังสร้างประวัติศาสตร์ สร้างตํานานที่ทําให้คนหันกลับมามอง
"เราอยากให้จุฬาฯ ไม่ได้เป็นแค่ที่ 1 ในประเทศไทย แต่ต้องเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แต่การเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่แค่ Ranking แต่เป็นจุดดึงดูดที่ทําให้ต่างชาติหันมาสนใจประเทศไทยมากขึ้น สร้างคุณค่าและมูลค่าทุกด้านให้กับประเทศไทย มาเรียนรู้ในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้จุฬาฯ คือ World Class Intelligent Hub เป็นศูนย์กลางของความฉลาดระดับโลก ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าเราทําได้"
ขณะเดียวกันในอีก 4 ปี ภาพลักษณ์ของจุฬาฯ จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เข้าถึงชุมชนได้มากที่สุด เราจะสร้างบริการชุมชนทั่วประเทศให้มากขึ้นโดยผ่านดิจิทัลและนวัตกรรม มีความร่วมมือกับชุมชนต่างๆ โดยอาศัยนิสิตเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และอาศัย AI ซึ่งวันนี้เราสร้าง AI University ขึ้นมาในมหาวิทยาลัยแล้ว AI ตามแบบฉบับของจุฬาฯ จะเป็น CU Al Institute หรือสถาบันปัญญาประดิษฐ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะทําให้เป็นศูนย์กลางที่ดึงให้ทั่วโลกหันมามองเรา ที่สําคัญจุฬาฯ ยังสอนให้นิสิตมีจิตสํานึกในการช่วยเหลือชุมชนด้วย อยากให้นิสิตจุฬาฯ เป็นทั้งคนเก่งและคนดี มีคุณธรรม และเฉลียวฉลาดทางด้านดิจิทัลและ AI พร้อมก้าวสู่นานาชาติได้ นั่นคือหมุดหมายของมหาวิทยาลัยที่อยากจะให้เกิดขึ้นใน 4 ปี
"ถ้าคุณสอนแค่สมอง แต่ไม่ได้สอนให้คนมีจิตสํานึก มันเป็นระยะสั้น เราต้องลองนึกถึงจิตสํานึกโดยอาศัยการกระทํา อาศัยประสบการณ์จริง ให้นิสิตได้เห็นจริง รู้สึกจริงในการเป็น Real Life In The University"
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วางยุทธศาสตร์หลักที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย เน้นนำจุฬาฯ ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมชั้นนำที่มุ่งสร้างสรรค์ความรู้และผลผลิตจากการศึกษาวิจัย ตลอดจนบัณฑิตที่เป็นนวัตกรในทางที่จะปรับเปลี่ยนสังคมไทยให้สามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อเป็นกำลังหลักในการร่วมสร้างสังคม พร้อมทั้งมีความเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ในฐานะมหาวิทยาลัยระดับชาติที่ก้าวข้ามไปสู่ความเป็นนานาชาติอย่างเต็มภาคภูมิ ตอบสนองวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ ในการเป็น "ผู้นำการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (The leader in creating knowledge and innovation for a sustainable society).