ชื่นชมเจ้าหน้าที่ ทอดแหช่วยชีวิต "ลูกฉลามครีบดำ" หลังพบมี "ห่วงพลาสติกแข็ง" หนา 2 มม. รัดปิดทับช่องเหงือก จนสุดท้ายรอดปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กระบี่ ว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 ทีมสำรวจวิจัยฉลามครีบดำ ที่อ่าวมาหยา ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ตามโครงการ Maya Bay Sharks Watch Project ได้ตรวจดูการบันทึกภาพ VDO ใต้น้ำแล้วพบเจอลูกฉลามครีบดำ มีห่วงพลาสติก ที่คาดว่าจะเป็นแหวนรองฝาขวดพลาสติก รัดอยู่บริเวณครีบบน ปิดทับช่องเหงือกช่องสุดท้าย เป็นพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 เซนติเมตร มีความแข็งและหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร
เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันจับฉลามตัวดังกล่าวขึ้นมาบนฝั่ง เพื่อให้การช่วยเหลือโดยการทอดแหจับขึ้นมา พบเป็นฉลามครีบดำเพศผู้ ลำตัวยาว 50 เซนติเมตร น้ำหนักไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม หลังจากตัดห่วงพลาสติกออกแล้ว ยังมีแรงว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ห่วงพลาสติกทิ้งไว้ คือรอยแผลเป็นจุดๆ ที่เกิดจากการบาดของพลาสติก
ซึ่งทางทีมที่ช่วยเหลือ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทางทะเล อ่าวมาหยา เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง โดยเจ้าหน้าที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wizchayuth Limungkoon Boonyanate ได้นำคลิปวิดีโอการช่วยเหลือดังกล่าวมาโพสต์ลงในโซเชียลพร้อมระบุข้อความว่า "คลิปการช่วยเหลือ ลูกฉลามครีบดำ ณ อ่าวมาหยา" เมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมา ทางทีมสำรวจวิจัยฉลามครีบดำ ณ อ่าวมาหยา โครงการ Maya Bay Sharks Watch Project
ทีม Thai Sharks and Rays x Mnpoc 3 x DMCR x DNP อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ได้ตรวจดูการบันทึกภาพ VDO ใต้น้ำ พบเจอลูกฉลามครีบดำ มีพลาสติก ที่คาดว่าจะเป็นแหวนรองฝาพลาสติก จากแกลลอนถังน้ำมัน หรือไม่ก็เป็นถังน้ำขนาดใหญ่ รัดอยู่บริเวณครีบบน และครีบว่าย ปิดทับช่องเหงือกช่องสุดท้าย
...
เป็นพลาสติก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 เซนติเมตร มีความแข็งและหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร เราพบเจอจำนวน 2 ตัว ตัวแรกถูกรัดอย่างหลวมๆ จากการสังเกต VDO ซ้ำๆ อยู่หลายรอบ และหลายวัน เราคาดว่ามันสามารถสะบัดห่วงพลาสติกออกไปได้ด้วยตัวเองแล้ว ตัวที่สองห่วงพลาสติกรัดแน่น มากจนเห็นได้ชัด ว่าเริ่มเกิดรอยแผล ที่ถูกห่วงพลาสติกบาด จึงได้รีบตามหาเพื่อเร่งช่วยเหลือ
วิธีการจับ ทางทีมใช้การทอดแห ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ในการจับ แต่... การค้นหา และระบุตัว การต้อนมันเข้าบริเวณน้ำตื้น ใช้เวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่ง เพราะสภาพอากาศแย่ ทั้งฝนตก คลื่นลมแรง และน้ำทะเลที่ขุ่น จึงยากแก่การมองเห็น ลูกฉลามที่เราช่วยได้ เป็นฉลามครีบดำเพศผู้ ลำตัวยาว 50 เซนติเมตร วัดจากหัวถึงปลายหาง น้ำหนักไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม หลังจากตัดห่วงพลาสติกออกแล้ว มันยังมีแรงว่ายน้ำได้อย่างรวดเร็ว
แต่สิ่งที่ขยะพลาสติกทิ้งไว้ คือรอยแผล เป็นจุดๆ ที่เกิดจากการบาด และการถูกรัด เราหวังว่าจะเจอมันและระบุตัวมันได้จากรอยแผลนี้ (หากมันเกิดเป็นรอยแผลเป็น) ในรอบเดือนหน้า และ "อยากให้ทุกคน ช่วยกันตั้งชื่อให้กับลูกฉลามตัวนี้"
ฉลามครีบดำโตเต็มวัยเพียง 1 ตัว สามารถสร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศแนวปะการัง ได้ "เป็นบริเวณหลายไร่" มันคอยปกป้องแนวปะการัง 24 ชม. ตลอดชีวิตของมัน นี่คือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้
การเสียเวลา ช่วยลูกฉลาม 1 ตัว ให้มีชีวิตรอด ถือว่าคุ้มค่ามาก กับสิ่งที่จะได้รับกลับมา ป.ล.ทางทีมเรา ก็ไม่ลืมที่จะจัดการกับต้นตอของปัญหา นั้นคือขยะทะเล ที่เริ่มก่อตัวเป็นแพใหญ่ และแน่นอน มีห่วงพลาสติกหลายสิบห่วงอยู่ในแพขยะนั้น ทางทีมสามารถเก็บกู้ขยะทะเล ในอ่าวมาหยาไปได้กว่า 70% เราเลือกเก็บสิ่งที่ดูเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลมากที่สุดก่อน
ขอบคุณ เจ้าหน้าที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทางทะเล อ่าวมาหยาทุกท่าน ขอบคุณเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง และน้องๆ นักศึกษาฝึกงานทุกคน
ผู้รายงาน : W I Z
น้ำหนึ่ง Natnicha Tachana นักศึกษาฝึกงาน จุฬาลงกรณ์ บันทึกภาพ VDO
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Wizchayuth Limungkoon Boonyanate