นักเรียนการ์ดอย่าตก กระทรวงศึกษาธิการ เตือน "โควิด-19" วกกลับมาได้ทุกเมื่อ วอนโรงเรียนคัดกรองทุกเช้า เฝ้าระวังผู้เรียนอย่างเข้มข้น

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มีข้อห่วงใยถึงสถานศึกษาในสังกัดทุกพื้นที่ ให้รับมือสถานการณ์โควิดที่กลับมาในช่วงเปิดเทอมนี้ เน้นย้ำครูและผู้ปกครองดูแลผู้เรียนอย่างเคร่งครัด ปลูกฝังสุขอนามัยเด็กให้ติดเป็นนิสัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง การ์ดอย่าตก ร่วมเฝ้าระวังปกป้องผู้เรียนให้ปลอดภัย

จากข้อมูลของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยให้เห็นถึงแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงในสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 2 หมื่นราย ถึงตอนนี้จะมีวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่จบ แม้ว่าปัจจุบันอาการอาจไม่รุนแรง คล้ายเป็นหวัด มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก แต่หากไม่ระวังอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้เรียนด้วยกัน หรือกระจายสู่กลุ่มเสี่ยงได้ง่าย คนที่ภูมิต้านทานต่ำอาจมีอาการปอดอักเสบจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการ์ดอย่าตก เพราะเรายังต้องใช้ชีวิตร่วมกับโรคระบาดนี้อยู่

ขณะที่ กระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำมาโดยตลอดถึงมาตรการดูแลสุขอนามัยที่ดีในสถานศึกษา จึงคาดหวังให้ครูและผู้ปกครองกวดขันวินัยการรักษาความสะอาดกับผู้เรียน ยิ่งในช่วงเปิดเทอมนี้เป็นฤดูฝนผู้เรียนมีแนวโน้มภูมิต้านทานอ่อนแอมากขึ้น และที่ห่วงใยเป็นพิเศษคือกลุ่มเด็กเล็กที่เล่นกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม หากมีการทำกิจกรรมรวมกันเป็นหมู่มากบริเวณที่ไม่ใช่พื้นที่โล่งแจ้ง อาจจะส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย

ทั้งนี้จึงควรป้องกันทั้งในสถานศึกษา ชุมชน ครอบครัว สถานที่แออัด การเดินทางร่วมกับผู้อื่นโดยรถสาธารณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัส เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ใส่ใจการล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ และกักตัวแยกจากเพื่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบกลุ่ม

...

อย่างไรก้ตาม ฝากสถานศึกษากำชับมาตรการเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองเด็กเล็กทุกเช้า หากพบผู้เรียนที่มีอาการให้รีบแจ้งผู้ปกครองพาไปพบแพทย์ หรือหากพบการป่วยเป็นกลุ่มใหญ่ให้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที ด้วยเด็กเล็กอยู่ในช่วงวัยเรียนวัยเล่น ความสนุกอาจประมาทในการป้องกันเชื้อโรค ทำให้ไม่ได้ระมัดระวังในจุดนี้เท่าที่ควร ผู้ใหญ่อย่างครูหรือผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็ก ควรทำความเข้าใจอย่างมีเหตุผล ชี้แนะให้เด็กเข้าใจถึงผลที่ตามมา เพราะการเจ็บป่วยจนต้องหยุดเรียน อาจจะส่งผลกระทบต่อการเรียน ทำให้รู้สึกว่าเรียนไม่ทันเพื่อนจนไม่อยากมาโรงเรียน.