สพฐ. หารือมูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี เร่งสร้างความปลอดภัยทุกจุดในโรงเรียน หลังเกิดกรณีเด็กนักเรียนหญิงถูกถ่ายคลิป และพยายามกระทำอนาจารในห้องน้ำ

วันที่ 6 มิถุนายน 2567 มีรายงานว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. (ศสป.สพฐ.) ร่วมประชุมและหารือร่วมกับมูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี นำโดย นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิฯ เพื่อหามาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาป้องกันเหตุร้ายให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน จากกรณีที่นักเรียนหญิงของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ถูกถ่ายคลิปและพยายามกระทำอนาจารในห้องน้ำ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา

นายธีร์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า สพฐ. ได้รับรายงานแจ้งจาก สพป.นครราชสีมา เขต 3 ต้นสังกัดของโรงเรียนที่เกิดเหตุ และได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ตลอดจนโรงเรียนมีการดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้กำชับโรงเรียนให้ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด รวมถึงกำชับสถานศึกษาอื่นๆ ในสังกัดให้เฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และได้กำหนดบุคคล ที่เป็นผู้ประสานการปฏิบัติการร่วมกับภาคีเครือข่าย

โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับบุคคลภายนอกในการเข้า-ออกโรงเรียน ยกระดับแนวป้องกันเป็นพิเศษ และเพิ่มแนวทางป้องกันต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้รับความปลอดภัย ตามนโยบาย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย ทั้งครูและนักเรียน ที่สำคัญคือการจัดสรรอัตรานักการภารโรงให้ทุกโรงเรียน เพื่อช่วยดูแลโรงเรียนในทุกด้าน รวมถึงด้านความปลอดภัยด้วย ส่วนในเรื่องคดีความ ได้แจ้งให้เขตพื้นที่และโรงเรียนประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างต่อเนื่อง และรายงานมายัง สพฐ. ต่อไป

...

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สพฐ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตามข้อห่วงใยของ รมว.ศธ. รมช.ศธ. และเลขาธิการ กพฐ. โดยกำชับโรงเรียนดูแลความปลอดภัยนักเรียนและครู ตามมาตรการความปลอดภัย และแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด และให้ความสำคัญกับการดูแลเยียวยานักเรียนเป็นอันดับแรก

ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกับเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ด้านการเข้า-ออกโรงเรียนอย่างปลอดภัย และให้นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่ฯ ร่วมกับสหวิชาชีพ เข้าไปพูดคุยเพื่อประเมินสภาพจิตใจ ให้คำแนะนำผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กนักเรียนให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติต่อไป รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ สพฐ.