ปภ. เน้นย้ำ 41 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 21-26 พ.ค. 67
วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.00 น. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 5 (97/2567) ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ช่วงวันที่ 21-24 พฤษภาคม 2567 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
สำหรับช่วงวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2567 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 4/2567 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 แจ้งว่า มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และมีพื้นที่บริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 21-26 พฤษภาคม 2567 ดังนี้
น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง (ระหว่างวันที่ 21-26 พฤษภาคม 2567)
ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย) เชียงใหม่ (อ.ฝาง อมก๋อย จอมทอง แม่อาย เชียงดาว สะเมิง แม่วาง แม่ริม แม่แตง) เชียงราย (อ.เมืองฯ พานเทิง เวียงป่าเป้า แม่สาย เชียงแสน แม่จัน แม่สรวย แม่ฟ้าหลวง) ลำพูน (อ.เมืองฯ แม่ทา บ้านโฮ่ง ลี้ ทุ่งหัวช้าง) ลำปาง (อ.เมืองฯ แจ้ห่ม งาว วังเหนือ เมืองปาน เถิน เกาะคา แม่พริก) พะเยา (อ.ปง เขียงคำ จุน ภูกามยาว) แพร่ (อ.เมืองฯ สอง สูงเม่น วังชิ้น ร้องกวาง ลอง เด่นชัย) น่าน (อ.เมืองฯ แม่จริม ปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ สองแคว) อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ ฟากท่า ท่าปลา น้ำปาด ลับแล) ตาก (อ.เมืองฯ ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง) สุโขทัย (อ.เมืองฯ ทุ่งเสลี่ยม บ้านด่านลานหอย ศรีสัชนาลัย) พิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์ และเพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ เขาค้อ วังโป่งชนแดน หนองไผ่ หล่มสัก หล่มเก่า)
...
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เลย (อ.นาแห้ว ด่านซ้าย ภูเรือ ท่าลี่ เชียงคาน) หนองคาย (อ.เมืองฯ โพนพิสัย) บึงกาฬ (อ.มุ่งคล้า เซกา บึงโขงหลง) นครพนม (อ.เมืองฯ ศรีสงคราม) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ คอนสาร หนองบัวแดง เทพสถิต) นครราชสีมา (อ.ปากช่อง สีคิ้ว วังน้ำเขียว ปักธงชัย) ศรีสะเกษ (อ.ขุนหาญ) และอุบลราชธานี (อ.น้ำยืน ศรีเมืองใหม่)
ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อ.เมืองฯ ทองผาภูมิ สังขละบุรี ไทรโยค ศรีสวัสดิ์ ด่านมะขามเตี้ย บ่อพลอย) ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา) ชลบุรี (อ.เมืองฯ บางละมุง ศรีราชา) ระยอง (อ.เมืองฯ แกลง บ้านค่าย ปลวกแดง) จันทบุรี (อ.เมืองฯ มะขาม ขลุง โปงน้ำร้อน แก่งห่างแมว สอยดาว เขาคิชฌกูฎ) ตราด (อ.เมืองฯ เขาสมิง บ่อไร่) เพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน หนองหญ้าปล้อง) และประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน)
ภาคใต้ 12 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร (อ.พะโต๊ะ สวี หลังสวน) สุราษฎร์ธานี (อ.ดอนสัก กาญจนดิษฐ์ พนม บ้านตาขุน เกาะพะงัน เกาะสมุย) นครศรีธรรมราช (อ.ขนอม สิชล นบพิตำ ลานสกา) สงขลา (อ.สะบ้าย้อย) ยะลา (อ.ยะหา รามัน) นราธิวาส (อ.เจาะไอร้อง สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก แว้ง) ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อ.เมืองฯ คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.เมืองฯ เหนือคลอง อ่าวลึก คลองท่อม ปลายพระยา เกาะลันตา เขาพนม) ตรัง (อ.เมืองฯ ปะเหลียน นาโยง ห้วยยอด รัษฎา วังวิเศษ) และสตูล (อ.เมืองฯ ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า มะนัง)
คลื่นลมแรง (ระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2567)
ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) และภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 41 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศแจ้งเตือนหรือติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ เพื่อแจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ และผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น
ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน "THAI DISASTER ALERT" และหากมีความเดือดร้อนจากสภาพอากาศ สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป.