สวนสัตว์ขอนแก่น อวดความน่ารักของ "ลูกค่างห้าสี" สัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ หลังประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ครั้งที่ 5
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้สวนสัตว์ขอนแก่นสามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกค่างห้าสีได้อีกครั้ง
โดยเกิดจากแม่พันธุ์ชื่อ แม่อุ้ม พ่อพันธุ์ชื่อ พ่อเอ๋ ซึ่งย้ายมาจากสวนสัตว์ดุสิต เมื่อปี พ.ศ. 2559 และได้ให้กำเนิดลูกค่างห้าสีตัวน้อย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 จำนวน 1 ตัว เป็นเพศผู้ และอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์จนมีสุขภาพแข็งแรง จึงได้นำมาอวดโฉม ความสวยงาม ความน่ารักของลูกค่างห้าสี
"ถือว่าค่างห้าสีเป็นสัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ และมีสีสันที่สวยงามที่สุดในโลกก็ว่าได้ สำหรับลูกค่างห้าสีตัวนี้ เป็นชุดที่ 5 ของสวนสัตว์ขอนแก่น ปัจจุบันมีค่างห้าสีทั้งหมด 7 ตัว เพศผู้ 3 ตัว และเพศเมีย 4 ตัว ช่วงเปิดเทอมนี้ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่าน มาชมความน่ารักของค่างห้าสีได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ"
...
นางทิพาวดี กล่าวอีกว่า ค่างห้าสีเป็นค่างที่มีสีสะดุดตามาก จัดเป็นค่างที่สวยงามที่สุดในโลก โดยมีสีขนตามร่างกายผสานกัน 5 สี คือ ดำ เทา ขาว น้ำตาลแดง และส้ม ส่วนหลัง กระหม่อม แขนบนด้านนอก และหน้าท้องขนสีเทา หน้าอก แขนบนด้านใน ต้นขาด้านในและนอก รวมทั้งมือและเท้าขนสีดำ หน้าแข้งและน่องขนสีน้ำตาลแดง แขนท่อนล่างและหางสีขาว เพศผู้ความยาวหัวรวมลำตัว เฉลี่ย 61 เซนติเมตร เพศเมีย 54.5 เซนติเมตร น้ำหนักเพศผู้เฉลี่ย 11 กิโลกรัม ส่วนเพศเมีย 8.44 กิโลกรัม ส่วนความยาวหางอยู่ในช่วง 55.8-76.2 เซนติเมตร
การผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ระยะตั้งท้องอยู่ในช่วง 165-190 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว เพศเมียถึงช่วงวัยสมบูรณ์พันธุ์ที่อายุ 4 ปี ส่วนเพศผู้อยู่ในช่วง 4-5 ปี โดยมีอายุขัยเฉลี่ย 25 ปี พบการกระจายพันธุ์ในพื้นที่ภาคกลางของเวียดนาม ตะวันออกเฉียงเหนือของลาว ตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา
ค่างห้าสีเป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นฝูงทั้งสองเพศ จำนวนของเพศเมียมากกว่า โดยเพศผู้จะเป็นผู้นำฝูง ขนาดของกลุ่มขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหารและการรบกวนจากมนุษย์ หากินในเวลากลางวัน ด้วยการเคลื่อนตัวในชั้นเรือนยอดของป่า การเคลื่อนที่ด้วยการโหนตัวตามกิ่งไม้ด้วยมือและแขน รวมทั้งการกระโดดโดยใช้ขาหลังผลักตัวให้เคลื่อนไปข้างหน้า และการเหยียดแขนขึ้นเหนือหัว หางจะเป็นตัวช่วยในการสร้างความสมดุล ตอนกลางคืนนอนบนส่วนเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ที่มีใบไม้ปกคลุมหนาแน่น.