ทีมนักวิจัยไทยค้นพบ "กระเจียวศิริรักษ์" พืชชนิดใหม่ของโลกที่สุโขทัย เป็นพืชใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เดินหน้าศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชกรรม

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 มีรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ดร.ศรายุทธ รักอาชา ดร.จรัญ มากน้อย และ ดร.วรนาถ ธรรมรงค์ และ รศ. ดร.สุรพล แสนสุข จากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รศ. ดร.ปิยะพร แสนสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ค้นพบพืชสกุลขมิ้น (Curcuma L.) วงศ์ขิง (Zingiberaceae) ชนิดใหม่ของโลก ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Tropical Journal of Natural Product Research ปีที่ 8 ฉบับที่ 4 โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

กระเจียวศิริรักษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma sirirugsae Saensouk & Rakarcha คำระบุชนิด "sirirugsae" เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ นักพฤกษศาสตร์ไทยคนแรกที่ศึกษาอนุกรมวิธานพืชวงศ์ขิง ลักษณะเด่นทางสัณฐานวิทยาของกระเจียวศิริรักษ์ คือ เหง้าไม่แตกแขนง เกือบทุกส่วนของพืชมีขนปกคลุม ใบเป็นรูปรีกว้าง ดอกออกก่อนใบ ช่อดอกออกเป็นกระจุกติดกับพื้นดิน ใบประดับรูปไข่ถึงรูปหอก ใบประดับส่วนยอดมีโคนกลีบสีขาวอมชมพู ปลายกลีบสีแดง ดอกสีเหลืองอ่อน กระจายพันธุ์ตามป่าผลัดใบใกล้กับเขาหินปูนในจังหวัดสุโขทัยออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม

...

กระเจียวศิริรักษ์จัดเป็นพืชถิ่นเดียว (endemic species) และมีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ตามเกณฑ์ของ IUCN เป็นพืชใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ด้วยเหตุนี้องค์การสวนพฤกษศาสตร์ จึงทำการศึกษาการขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อเพิ่มจำนวน และมีแผนที่จะนำกระเจียวศิริรักษ์ ไปคืนถิ่นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ต่อไป

การค้นพบในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง นอกจากนั้นแล้ว พืชวงศ์นี้ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ยาสมุนไพร หรือไม้ประดับ ในอนาคตคณะผู้วิจัยยังมีแผนที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชกรรมต่อไปอีกด้วย.