สพฐ. ชี้แจงคำสั่งย้าย "ผู้อำนวยการโรงเรียน" ปมอาหารกลางวันนักเรียน ยืนยันย้ายตามระเบียบฯ ไม่ใช่ตำแหน่งใหญ่กว่าเดิม พร้อมย้ำชัด ติดตามกำกับอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ ลงข้อความในทำนองว่า ผอ.ข้าวไข่ต้ม ย้ายตำแหน่งใหญ่กว่าเดิม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เอาไปซุกรอเรื่องเงียบสามเดือนกว่า ล่าสุด 25 เม.ย. 67 มีคำสั่งไปดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ ดีกว่าเดิม พร้อมกับลงภาพถ่าย คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 898/2567 สั่ง ณ วันที่ 25 เมษายน 2567 ซึ่งข้อความข่าวดังกล่าวอาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า สพฐ. ดำเนินการไม่เหมาะสม โดยสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิมนั้น 

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าว ขอยืนยันว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามที่เพจดังกล่าวเสนอ กล่าวคือ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนนักเรียนเพียง 111 คน (ตามข้อมูล 10 มิถุนายน 2566) มีพื้นที่ 3 ไร่เศษ ในขณะที่โรงเรียนเดิม คือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนนักเรียน 496 คน พื้นที่ 654 ไร่ จึงขอยืนยันว่าโรงเรียนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวมีปริมาณงานที่ลดลงกว่าเดิม มีนักเรียนน้อยกว่าเดิม และมีพื้นที่ในการบริหารจัดการน้อยกว่าเดิม 

ทั้งนี้ จึงไม่ใช่สั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิม และไม่ใช่ สพฐ. สั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ แต่เป็นการสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ส่วนการย้ายยังไม่ถึงช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการ ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวจะได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ ยังไม่เป็นที่แน่นอน ต้องขึ้นอยู่กับคู่แข่งขันและความเหมาะสม 

...

อีกทั้งการที่ สพฐ. สั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีเหตุผลความจำเป็น คือ ในระหว่างที่สั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สพฐ. ที่กรุงเทพมหานครแล้ว ปรากฏว่า สามีของผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวป่วยหนัก ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความลำบากที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับกรุงเทพมหานคร ตามหลักคุณธรรมในการบริหารงานบุคคล จึงมีความจำเป็นต้องสั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้มีโอกาสดูแลสามีได้อย่างใกล้ชิด เพราะตราบใดที่ยังไม่มีผลการพิจารณาหรือตัดสินว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ต้องถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย 

จึงขอยืนยันว่า สพฐ. ได้พิจารณาและดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการอย่างเคร่งครัด ไม่มีการเลือกปฏิบัติทั้งสิ้น ซึ่งหากผลการดำเนินการทางวินัย หรือผลของการดำเนินคดีอาญาในเรื่องที่กล่าวหาผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ออกมาอย่างไร สพฐ. ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้นอย่างตรงไปตรงมา  

ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการในกรณีดังกล่าว ขอกล่าวโดยสังเขป ดังนี้ คือ กรณีดังกล่าว เริ่มต้นจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการจัดเลี้ยงอาหารให้แก่นักเรียนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เพจดังกล่าวได้เริ่มลงภาพจานข้าวกับไข่ต้ม 1 ฟอง กับน้ำพริกตาแดง ในวันที่ 12 มกราคม 2567 ซึ่งเมื่อมีข่าวดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอนในขณะนั้น ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 108/2567 สั่ง ณ วันที่ 12 มกราคม 2567 และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในวันเดียวกัน และให้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงลงพื้นที่สืบสวนข้อเท็จจริงโดยทันที 

ในขณะเดียวกัน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ซึ่งพบว่าในความเป็นจริงแล้วการจัดอาหารกลางวันสภาพดังกล่าว ทำเพียงมื้อเดียว เนื่องจากโรงเรียนใช้งบประมาณจัดอาหารในมื้อนั้นไปจัดเลี้ยงหมูกระทะให้แก่นักเรียน เนื่องในวันปีใหม่และในโอกาสวันเด็ก ในวันที่ 13 มกราคม 2567 ซึ่งการเบิกจ่ายเงินในมื้อที่มีไข่ต้ม 1 ฟอง ได้เบิกจ่ายตามความเป็นจริง แต่สภาพที่พบอย่างหนึ่ง คือ ครูภายในโรงเรียนมีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย 

อย่างไรก็ตาม ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในการจัดอาหารไม่เหมาะสมในกรณีดังกล่าว ประกอบกับพฤติการณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ามีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง สพฐ. จึงได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 288/2567 สั่ง ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งระยะเวลาการสอบสวน ตาม กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2550 มีระยะเวลาในการดำเนินการ 180 วัน เมื่อนับระยะเวลาปัจจุบันเวลาผ่านไปเพียง 90 วัน เรื่องจึงอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง 

นอกจากนั้น ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาในกรณีที่เป็นข่าวดังกล่าวด้วย ในระหว่างตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว จึงปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรุงเทพมหานครมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สพฐ. จึงได้สั่งการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในโครงการส่งเสริมอาชีพคนตาบอด ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 385/2567 สั่ง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากสามีป่วยหนักดังกล่าวมาแล้ว  

อย่างไรก็ตาม สพฐ. ได้มีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ และเมื่อผู้อำนวยการคนดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวที่โรงเรียนแห่งใหม่ดังกล่าว ก็ได้สั่งการกำชับให้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล.