เป็นเรื่องที่ "ลูกจ้าง" ทุกคนต้องรู้ ทำงาน "วันแรงงาน" 1 พ.ค. นายจ้างต้องจ่ายค่าแรง 2 เท่า เลื่อนไปหยุดวันอื่นไม่ได้
อย่างที่รู้กันว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ตรงกับ วันแรงงาน ซึ่งถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อให้ทุกคนได้รำลึกถึงความสำคัญของแรงงาน และเป็นวันที่ลูกจ้างในหลายประเทศจะได้หยุดพัก ในประเทศไทยเองก็มีแรงงานกว่า 38 ล้านคน ถือเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมี "ลูกจ้าง" และ "แรงงาน" อีกไม่น้อยที่อาจจะไม่ได้หยุดในวันแรงงาน อาทิ ลูกจ้างที่ทำงานในภาคบริการ ดังนั้น หากใครที่ต้องทำงานในวันแรงงาน มีอีกเรื่องที่คุณต้องรู้ คือ หากนายจ้างให้มาทำงาน ต้องจ่ายเพิ่ม 1 แรง ทั้งลูกจ้างรายวันและรายเดือน ขอเลื่อนไปหยุดวันอื่นไม่ได้
โดยเฟซบุ๊กเพจ "กฎหมายแรงงาน" ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ลูกจ้างต้องได้หยุดทุกคนไม่มีข้อยกเว้นทั้งรายวันรายเดือน ถ้านายจ้างให้ทำงานต้องได้ค่าแรงเพิ่ม 1 เท่า จะเลื่อนไปหยุดวันอื่นก็ไม่ได้
หากไม่มาทำงานนายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นรายวัน หรือรายเดือน แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว จะอ้างว่าเป็นวันแรงงานซึ่งเป็นวันหยุดไม่ได้ เพราะกฎหมายมาตรา 29 กำหนดว่า "ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด" ซึ่งรัฐมนตรีประกาศให้วันแรงงานคือวันที่ 1 พฤษภาคม
นั่นหมายความว่ากฎหมายบังคับให้ต้องจัดให้วันแรงงานเป็นวันหยุดตามประเพณี ไม่จัดไม่ได้ หากไม่จัดให้หยุดมาตรา 146 กำหนดให้นายจ้างผู้ซึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษทางอาญา ซึ่งลูกจ้างสามารถร้องต่อแรงงานโดยไม่เปิดเผยชื่อนามสกุลของผู้ร้องได้ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่
มีปัญหาว่าหากนายจ้างจัดให้หยุดแล้ว นายจ้างจะอ้างว่าเมื่อไม่มาทำงานก็ไม่จ่ายค่าจ้างหรือ no work no pay ได้หรือไม่ คำตอบ คือไม่ได้ ต้องจ่ายค่าจ้างเพราะมาตรา 56 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทั้งรายวันและรายเดือนใน "วันแรงงาน" ซึ่งเป็นวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ลาพักร้อน)
หากนายจ้างให้มาทำงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มอีก 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ (ตามมาตรา 61) เช่น ลูกจ้างทำงานได้ค่าจ้างวันละ 400 บาท นายจ้างต้องจัดให้หยุดวันแรงงานโดยไม่ต้องมาทำงาน หากนายจ้างให้มาทำงานในวันแรงงานจะต้องจ่าย 1 เท่า คือ 400 บาท เท่ากับว่าถึงเวลาจ่ายค่าจ้างต้องได้ 800 บาท.
...
ที่มาจาก เฟซบุ๊กเพจ กฎหมายแรงงาน