โซเชียลอาลัย "แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ" ตำนานขนมหม้อแกง ของฝากเมืองเพชร ถึงแก่กรรม วัย 90 ปี เปิดประวัติ สู้ชีวิตตั้งแต่สาวๆ
วันที่ 23 เม.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ" ผู้ก่อตั้งขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ ตำนานหม้อแกงแห่งจังหวัดเพชรบุรี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 90 ปี ขณะที่คนในโลกโซเชียล รวมถึงเพจ ร้านขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ สาขาต่างๆ ได้โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยเป็นจำนวนมาก
สำหรับ "แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ" เป็นที่รู้จักในฐานะหญิงนักสู้ชีวิต ฟันฝ่าอุปสรรค จนสามารถได้เป็นเจ้าของธุรกิจร้านขายขนมหวานพื้นเมือง ของฝาก ของที่ระลึกเมืองเพชรบุรี ภายใต้แบรนด์ "แม่กิมไล้" ด้วยความหวาน หอม ของขนมหม้อแกง ที่อร่อยลงตัว และไม่มีใครเหมือน ทำให้หลายคนติดใจจนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดเพชรบุรีมาจนถึงปัจจุบัน
แม่กิมไล้ มีชื่อ-สกุลเดิมว่า น.ส.ไล้ ตะบูนพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2477 ที่ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นบุตรสาวคนที่ 6 จากจำนวนพี่น้อง 7 คน ของนายหมู-นางแดง ตะบูนพงษ์
ในวัยเยาว์ครอบครัวของแม่กิมไล้ บิดามารดาประกอบอาชีพทำขนมไทยขายในชุมชนสองฟากฝั่งริมแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน และในงานประจำปีตามวัดต่างๆ เช่นวัดเขาตะเครา วัดปากอ่าวบางตะบูน และวัดเขายี่สาร เป็นต้น ช่วงวันหยุด แม่กิมไล้ และพี่สาว จะพายเรือนำขนมไปขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนสองฟากฝั่งริมแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน
...
หลังจากเรียนจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดปากอ่าวแล้ว แม่กิมไล้ได้พบรักกับ จ.ส.ต.กลม บุญประเสริฐ ซึ่งรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ที่ สภ.บางตะบูน และมาใช้ชีวิตด้วยกันในตัวเมืองเพชรบุรี ขณะมีอายุได้ 18 ปี แต่เนื่องด้วยอาชีพตำรวจเงินเดือนน้อย ความเป็นอยู่จึงค่อนข้างลำบาก แต่ก็ไม่เคยปริปากขอความช่วยเหลือจากใคร กระทั่งมีลูก 7 คน
และเมื่อลูกคนแรก อายุได้ 9 ขวบ แม่กิมไล้ เห็นว่าควรคิดหาอะไรทำเพื่อเป็นการช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ประกอบกับแม่กิมไล้มีความรู้ในเรื่องการทำขนมหวานที่เรียนรู้จากมารดามาตั้งแต่เด็ก จึงตัดสินใจทำขนมขาย โดยนำเงินทุนเท่าที่มีอยู่ไปซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบมาทำ ทั้งขนมกล้วย ขนมเทียน ขนมตาล และข้าวต้มมัด เสร็จแล้วเดินหาบไปนั่งขายแถวริมฟุตปาทและตามตลาดในตัวเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่เช้าจรดค่ำเป็นประจำทุกวัน แม้ระยะแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่แม่กิมไล้ก็ไม่ย่อท้อ โดยมีลูกๆ คอยช่วยเหลือเท่าที่พอจะช่วยได้ ส่วนสามีหลังเลิกจากหน้าที่การงานก็จะมาช่วยตัดทางมะพร้าว ฉีกใบตอง คั้นกะทิ และช่วยห่อขนม
แม่กิมไล้ อดทนต่อสู้กับความยากจน มุ่งทำขนม จนเริ่มประสบผลสำเร็จ จากขนมที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็เริ่มเป็นที่กล่าวขานของชาวตลาดเมืองเพชรบุรี ขนมห่อที่เคยหาบขาย ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนต้องเปลี่ยนมาใช้เป็นรถเข็นแทน ก่อนจะเริ่มหันมาทำขนมหวาน จำพวก ทองหยิบ ฝอยทอง ลูกชุบ บ้าบิ่น สังขยา ขนมหม้อแกง ฯลฯ ลองผิดลองถูก จนได้รสชาติที่ถูกปากลูกค้า ก่อนนำไปขายที่หน้าวัดมหาธาตุวรวิหาร จ.เพชรบุรี
มีอยู่วันหนึ่ง พระเทพวงศาจารย์ หรือ “หลวงพ่ออินทร์” เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดยาง ในขณะนั้น ผ่านมาเห็นและได้ทักทายกับแม่กิมไล้ว่าจะรวยกันใหญ่แล้ว พร้อมตั้งชื่อให้ว่า “แม่กิมไล้” เป็นชื่อสิริมงคลสำหรับการค้าขายขนมหวานมาจนถึงปัจจุบัน
ขนมหวานของแม่กิมไล้เริ่มขายดิบขายดีเป็นที่โจษขานของชาวเมืองเพชรบุรี กระทั่งในปี 2515 จึงขยายกิจการเปลี่ยนจากรถเข็นไปขอเช่าพื้นที่เปิดร้านขายขนมหวานที่หน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบุรี
ส่วนขนมหม้อแกง ของแม่กิมไล้ เป็นที่รู้จัก เพราะได้รับรางวัล “ชนะเลิศ” ในงานกาชาด จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากคณะกรรมการได้ชิมขนมหม้อแกงของแม่กิมไล้เห็นว่ามีรสชาติหวานมัน หอมกลมกล่อม และมีความอร่อยเป็นเอกลักษณ์
ต่อมา ธุรกิจขนมหวาน ของแม่กิมไล้ เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จึงมีการขยายสาขาเพิ่มมาจนถึงปัจจุบัน รวม 5 สาขา นอกจากสาขาแรกแล้ว ยังมีสาขา ต.หัวสะพาน อ.เมืองเพชรบุรี สาขา ต.เขาทโมน อ.บ้านลาด สาขา ต.ท่ายาง และสาขา ต.ไร่ส้ม ซึ่งปัจจุบันก็มีลูกหลานช่วยกันดูแลกิจการ.