อช.แก่งกระจาน เผยผลเปรียบเทียบฐานข้อมูลเสือโคร่ง จากกล้องดักถ่ายบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี พบเป็นเสือตัวใหม่ พร้อมใช้รหัส "KKT-006M"
วันที่ 21 เมษายน 2567 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PRATOAL) อย่างเข้มข้น เพื่อหยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
สำหรับการปฏิบัติของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 4-7 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้สำรวจติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap) และสำรวจร่องรอยของสัตว์ป่าในพื้นที่ ในบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี พบสัตว์ป่าหลายชนิด และรายงานการพบเสือโคร่ง จำนวน 2 ตัว จำแนกเป็น เสือโคร่งณเดชน์ (KKT-002M) กับเสือโคร่ง KKT-004 นั้น
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้มีการตรวจลายของเสือโคร่งเพิ่มเติม พบว่าภาพถ่ายเสือโคร่ง ที่ถ่ายได้ด้วยกล้องถ่ายภาพโดยตรง ซึ่งเป็นภาพที่เสือโคร่งนอนเล่นน้ำบริเวณซับชุมเห็ด ในแม่น้ำเพชรบุรีตอนบน และถ่ายภาพที่ถ่ายได้ด้วยกล้อง camera trap จำนวน 4 ภาพ 2 วิดีโอ ถ่ายได้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม, 31 มีนาคม และวันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นเสือโคร่งตัวเต็มวัย เพศผู้ นั้น
จากเดิมเคยจำแนกเป็นเสือโคร่ง KKT-004 ภายหลังได้ส่งภาพให้นักวิจัยเสือโคร่ง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขานางรำ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ตรวจสอบเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลเสือโคร่งในประเทศไทย ผลการตรวจสอบ ยืนยันว่าเป็นเสือโคร่งตัวใหม่ที่ไม่เคยถ่ายภาพได้มาก่อน เป็นคนละตัวกับ KKT-004
...
โดยมีจุดแตกต่างกันตรงลายเส้นสีดำที่บริเวณหัวไหล่ด้านขวา ซึ่งมีการเรียงตัวของเส้นสีดำไม่เหมือนกัน ดังนั้น เสือโคร่งตัวใหม่ จึงให้ใช้ รหัส (KKT-006M) ซึ่งการปรากฏของเสือโคร่งที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า น่าจะเป็นผลมาจากจำนวนประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นนั่นเอง เช่น เก้ง กวาง กระทิง และหมูป่า
สรุปผลการสำรวจเสือโคร่งของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปัจจุบัน พบเสือโคร่งรวม จำนวน 6 ตัว เป็นเสือโคร่ง เพศผู้ จำนวน 2 ตัว เพศเมีย จำนวน 2 ตัว และจำแนกเพศไม่ได้ จำนวน 2 ตัว ได้แก่
(1) เสือโคร่งญาญ่า (KKT-001F) พบครั้งแรกปี 2556 ถึงปี 2563
(2) เสือโคร่งณเดชน์ (KKT-002M) พบครั้งแรกปี 2562 ถึง ปัจจุบัน
(3) เสือโคร่ง (KKT-003F) พบครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง ปัจจุบัน
(4) เสือโคร่ง (KKT-004) พบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ถึงปัจจุบัน
(5) เสือโคร่ง (KKT-005) พบครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงปัจจุบัน และล่าสุด
(6) เสือโคร่ง (KKT-006M) พบครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และองค์กรอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้อง มีแผนจะเพิ่มจำนวนอุปกรณ์การสำรวจ และขยายพื้นที่สำรวจ พร้อมกับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PRATOAL) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่ตามหลักวิชาการต่อไป.
ขอบคุณข้อมูลและภาพ จากเพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช