สิ้น "สมณะโพธิรักษ์" ผู้ก่อตั้ง "สำนักสันติอโศก" มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา ก่อนเคลื่อนสรีรสังขารไปยังบวรราชธานีอโศก เพื่อให้ลูกศิษย์เข้ากราบ
วันที่ 11 เม.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 06.40 น. พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ (รัก รักพงษ์) นักบวชผู้ก่อตั้ง และผู้นำของสำนักสันติอโศก มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชราที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี หลังจากที่ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวารินชำราบ ด้วยอาการปอดอักเสบ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยในเวลา 10.00 น. นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และนายแพทย์พงษ์พัฒน์ พิมพ์สะ แพทย์เจ้าของไข้มากราบขอขมา ก่อนจะเคลื่อนสรีรสังขาร พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ด้วยรถตู้สีขาว หมายเลขทะเบียน ฮว 4578 กรุงเทพ จากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ไปยังบวรราชธานีอโศก มีญาติธรรมและลูกศิษย์นั่งเรียงแถวสองข้างฝั่งถนนข้ามสะพานโค้งรุ้ง เข้าไปยังใต้เฮือนศูนย์สูญ และทำพิธีบรรจุสรีรสังขารพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ลงหีบไม้สักที่เตรียมไว้
เมื่อสรีรสังขารของพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ มาถึงเฮือนศูนย์สูญ นักบวชสมณะ ได้ช่วยกันนำสรีรสังขารของพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ลงจากรถ โดยไม่ให้ฆราวาสดำเนินการ และเปิดให้ญาติธรรมลูกศิษย์ เข้ากราบพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ครั้งละ 50 คน ก่อนจะบรรจุเข้าโลงเย็น
...
สำหรับ สมณะโพธิรักษ์ มีชื่อเดิมว่า มงคล รักพงษ์ เกิดวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดศรีสะเกษ ในวัยเด็กอาศัยอยู่กับมารดาที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังได้เข้ามาศึกษาชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบมัธยมปลายก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น รัก รักพงษ์
ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้เข้าทำงานที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นผู้จัดรายการ เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก, การศึกษา และวิชาการ นอกจากงานทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ก็ยังทำงานเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียน นักแต่งเพลง และเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ต่อมาได้หันมาศึกษาพุทธศาสนาและได้อุปสมบทในคณะธรรมยุติกนิกาย วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า โพธิรกฺขิโต มีพระราชวรคุณ (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์
2 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ ได้เข้ารับการแปรญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม จ.นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เนื่องจากมีพระคณะมหานิกายเข้ามาร่วมศึกษา และปฏิบัติตามพระโพธิรักษ์ แต่พระราชวรคุณซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ต้องการให้พระฝ่ายมหานิกายเข้ามาศึกษาด้วย 25 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ได้คืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุต ถือไว้แต่ใบสุทธิ ฝ่ายมหานิกาย อย่างเดียว
6 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระโพธิรักษ์และคณะ ได้ประกาศ นานาสังวาส กับมหาเถรสมาคม (ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม) และได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านอกรีต จากการปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระโพธิรักษ์และคณะ ได้แก่ ฉันอาหารมังสวิรัติ, ฉันอาหารวันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชาด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ ฯลฯ
ในภายหลัง พระโพธิรักษ์ และคณะ ได้รับการพิพากษาว่าเป็นผู้แพ้ ไม่สามารถเรียกขานตนเองว่า พระ ได้ จึงเรียกตนเองว่า สมณะ แทน และยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม
สมณะโพธิรักษ์ ได้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรม สันติอโศก เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อต้านรัฐบาลทั้งในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 รวมถึงการชุมนุมของ กปปส. ในปี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ.2557 ซึ่งสมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศก ได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2555 ก็ได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ด้วย
ขณะที่ รสนา โตสิตระกูล อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความอาลัย ระบุว่า "ขอน้อมแสดงธรรมาลัยแด่ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ผู้เป็นไม้ใหญ่สร้างชุมชนสันติอโศก ให้เป็นชุมชนต้นแบบของสาธารณโภคีอันเป็นหลักธรรมแห่งการแบ่งปันและอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย"