คนเชียงใหม่ยังอ่วมหนัก ผู้ว่าฯ สั่งทีมแพทย์-อปท. ดูแลกลุ่มเปราะบาง 4.2 แสนคน หลังดมฝุ่น PM 2.5 สะสมมานานนับเดือน

วันที่ 7 เม.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ฝุ่นควันที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงหนักหนาสาหัส ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังเกินมาตรฐานหลายเท่า สูงสุดรายชั่วโมง โดยช่วงบ่ายวันนี้อยู่ที่ อ.เชียงดาว 372 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีประชากรหนาแน่น ทุกพื้นที่ในตัวเมืองเกิน 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนต้องหายใจเอาฝุ่นควันอันตรายสะสมเข้าปอดมานานแล้วกว่าหนึ่งเดือน ขณะที่ในวันนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นอันดับหนึ่งเมืองคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดของโลกจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ iqair โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศที่ 193 AQI 

ล่าสุด นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแลและลดผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้คำแนะนำและบริการตรวจสุขภาพประชาชนกลุ่มเปราะบางในชุมชนและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดทำห้องลดฝุ่น (Clean Air Room) ไม่ต่ำกว่า 3 ห้อง ต่อ 1 อปท. 

กรณีพื้นที่ประสบภัยสภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพติดต่อกันมากกว่า 5 วันขึ้นไป ต้องส่งเสริมหรือดำเนินการให้มีพื้นที่ปลอดภัยห้องลดฝุ่นกลางสำหรับกลุ่มเปราะบางหรือพื้นที่เฉพาะ (บ้าน) และให้โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพทุกแห่งทุกสังกัดจัดทำห้องลดฝุ่น ตลอดจนแนะนำและเป็นต้นแบบการดำเนินงานห้องลดฝุ่น 

...

นอกจากนี้ ยังให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับเครือข่ายบริการทุกภาคส่วนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลป้องกันลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน มุ่งเน้นครอบคลุมกลุ่มเปราะบาง 420,129 คน ประกอบด้วยกลุ่มผู้ป่วย 14,982 คน แบ่งเป็นผู้ป่วย COPD รวม 3,267 คน, โรคหอบหืด 4,016 คน, โรคหัวใจและหลอดเลือด 1,609 คน, ผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง 6,070 คน, เด็กอายุ 0-5 ปี 101,837 คน, หญิงตั้งครรภ์ 3,339 คน, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมผู้พิการ จำนวน 249,363 คนและผู้พิการที่อายุต่ำกว่า 65 ปี ประมาณ 50,608 คน 

ขณะที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านซาง อ.แม่ริม ใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทยแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยใช้การสุมยาสมุนไพรในท้องถิ่นฟื้นฟูอาการในระบบทางเดินหายใจ ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพื่อฟื้นฟูอาการในระบบทางเดินหายใจและป้องกันอาการในระบบทางเดินหายใจเบื้องต้น ลดผลกระทบจากปัญหาแบบง่ายๆ ภายในครอบครัวและชุมชนได้.