กรมอนามัย เผยผลตรวจระบบประปาใน อ.เชียงคาน จ.เลย เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังน้ำปนเปื้อน "กรดซัลฟิวริก" ไหลมายังลุ่มน้ำโขง 

วันที่ 6 เมษายน 2567 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เผยว่า จากเหตุการณ์รถบรรทุกกรดซัลฟิวริกพลิกคว่ำ และเกิดการรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคาน ในแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว ส่งผลให้อาจมีน้ำปนเปื้อนกรดซัลฟิวริกไหลมายังลุ่มน้ำโขง

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงได้ประกาศพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสารดังกล่าว ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายภารกิจให้กรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ปฏิบัติภารกิจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะประปาชุมชน และประปาหมู่บ้านในจังหวัดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

โดย แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ได้มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของกรดซัลฟิวริกในแม่น้ำโขง เร่งประสานงาน และเฝ้าระวัง ประเมินเสี่ยงอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพประชาชน

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานพบว่า การประเมินความเสี่ยง และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการปนเปื้อนกรดซัลฟิวริก ในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบดังกล่าว อยู่ในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับประเมินอัตราการไหลของแม่น้ำโขงประจำวัน จึงมีการคาดการณ์ได้ว่า กระแสน้ำจะพัดพากรดซัลฟิวริก จากประเทศลาวเข้ามายังแม่น้ำโขงของประเทศไทย ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งก็คือวันนี้

ทำการเก็บตัวอย่างจากระบบประปาชุมชน และประปาหมู่บ้านที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากกรดที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย พบค่า PH อยู่ในช่วง 7-8 ซึ่งถือว่าเป็นปกติไม่มีการปนเปื้อนของกรด ในระบบประปาของประชาชน

...

ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สื่อสารให้ประชาชนทราบถึงอันตราย และลักษณะของอาการเบื้องต้น หากสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนกรดดังกล่าว และให้ติดตามสถานการณ์การแจ้งเตือนจากหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด 

พร้อมปฏิบัติตามมาตรการสำคัญ คือ หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ หรือใช้น้ำจากแม่น้ำโขง โดยไม่มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้ในบ้านเรือน ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง กำหนดมาตรการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาชุมชน และประปาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อว่า กรมอนามัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบลุ่มแม่น้ำโขง ติดตาม รับฟังข้อมูลผลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค จากหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และขอให้สังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก คนท้อง คนแก่ และผู้มีปัญหาทางสุขภาพ

หากมีการผิดปกติ เช่น มีผื่นแดง แสบ ร้อนที่ผิวหนังหลังจากสัมผัสน้ำ จากแหล่งน้ำโขง หรือน้ำประปาชุมชน หรือประปาหมู่บ้าน ให้รีบพบหมอใกล้บ้าน หรือแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ และการปนเปื้อนของกรดซัลฟิวริกโดยเร่งด่วน

อย่าวิตก กังวล หรือตระหนก เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ได้มีการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และมีมาตรการแจ้งเตือนประชาชนอย่างรวดเร็ว หากพบความผิดปกติ จึงขอให้มั่นใจในการใช้น้ำอุปโภค บริโภคในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย.