เผยตัวเลขคนเชียงใหม่ป่วยจากฝุ่น PM 2.5 หลัง มช.สูญเสียคณบดีสถาปัตย์จากมะเร็งปอด พบ 3 อำเภอเสี่ยงสูง
วันที่ 6 เม.ย. 2567 มีรายงานว่า เป็นข่าวเศร้าที่กลายเป็นประเด็นในสังคมหลังจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก "Pichaarpa Pisutserani" แสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมระบุว่า ท่านเป็นอาจารย์ มช. ท่านล่าสุด ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา ยังโพสต์สะท้อนถึงอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ไว้ด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด
- มีนาคม 2565 .. รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- กันยายน 2566 .. รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ..ท่านริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก PM 2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจาก สกว.
- ธันวาคม 2566 .. นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
...
- เมษายน 2567 .. ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พร้อมกับการตั้งคำถามด้วยว่า ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไรจึงจะแก้ปัญหาการเผา และ PM 2.5 ได้ ซึ่งหลังจากที่เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีคนเข้ามาแสดงความเสียใจเป็นจำนวนมาก
โพสต์ดังกล่าวมีคนเข้ามาแสดงความเสียใจและแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก และบอกว่าหากสืบค้นข้อมูลจะพบว่ามีบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 มากกว่านี้
ขณะที่เพจ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แชร์ข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มโรคมะเร็งปอดในจังหวัดเชียงใหม่ (ปี 2564) อ้างอิงข้อมูล ICD-10 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระบุพบผู้ป่วยจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เข้ารับบริการรักษาด้วยกลุ่มมะเร็งปอด ปี 2564 มากที่สุดอยู่ใน อ.เมืองเชียงใหม่ และ อ.แม่ริม ค่าสถิติสีม่วงเข้มมีตัวเลขผู้ป่วยต่อพื้นที่ระหว่าง 629-4,754 คน รองลงมาเป็นอำเภอจอมทอง ค่าสถิติสีม่วง พบผู้ป่วยระหว่าง 280-628 คน
ขณะที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค. - 15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM 2.5 แล้วทั้งสิ้นจำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ.
(ติดตามข่าว สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดที่นี่)