สามีอาจารย์ มช. เปิดใจ หลังภรรยาถูก "มะเร็งปอด" คร่าชีวิต ขอภาครัฐ หน่วยงานทุกฝ่ายใส่ใจแก้ไขปัญหามากกว่านี้ อยากให้การสูญเสียครั้งนี้เป็นกรณีศึกษา

วันที่ 5 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้แสดงความไว้อาลัยการจากไปของคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตจากมะเร็งปอด โดยเพื่อนอาจารย์ตั้งคำถามต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (อาลัย อาจารย์ มช. เสียชีวิตจากมะเร็งปอด ตั้งคำถามต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร)

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีข่าวร้าย เกี่ยวกับการเสียชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 4 ราย จากการตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอด โดยที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ กลับพบผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีสัดส่วนที่สูงมากกว่าที่อื่น

...

และจากการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ พบว่าการมาอยู่ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 ในระดับที่ไม่ปลอดภัย เป็นระยะเวลานาน มีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน ทำให้มีโอกาสที่เกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นอย่างมาก โดยแค่ระยะเวลา 2-3 ปี ก็มีความเสี่ยงแล้ว

ซึ่งไม่ใช่เป็นการได้รับผลกระทบระยะสั้น หรือแค่แสบตา ตาแดง แสบจมูก หากเป็นการสะสมของพิษ และส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างรุนแรง ทั้งโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดช่วงที่หมอกควันปกคลุม แต่เป็นการสะสมของพิษระยะยาว

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ วัดสวนดอกพระอารามหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยนายจิตรกร โอฬารรัตน์มณี สามีของ ดร.ระวิวรรณ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ภรรยาได้เริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ตอนแรกคิดว่าภรรยาป่วยเป็นลองโควิด แต่ช่วงหนึ่ง อ.ระวิวรรณ ได้มีอาการไอ และมีเลือดติดออกมา จึงตัดสินใจเข้าตรวจสุขภาพที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 

หลังจากนั้นทางแพทย์เจ้าของไข้ จึงได้วางแนวทางในการรักษา เริ่มจากการหาสาเหตุของการเกิดมะเร็ง ว่ามะเร็งปอดตัวนี้ มันเกิดจากอะไร โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ พบว่าเป็นผลจาก PM 2.5 ทำให้เกิดยีนกลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งยีนกลายพันธุ์ตัวนี้ มักจะเกิดในผู้หญิงเอเชีย อย่างไรก็ตาม อยากจะฝากถึงรัฐบาลว่าจริงๆ เราพบปัญหา PM 2.5 มานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดผลกระทบกับเราอย่างชัดเจน เราจึงไม่ให้ความสำคัญ 

แต่เมื่อวันหนึ่งถ้าคนในครอบครัว หรือตัวเราเอง ป่วยเป็นมะเร็งปอด เราจะรู้ทันทีว่า PM 2.5 มันเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงมาก อยากให้กรณีของ อ.ระวิวรรณ เป็นกรณีศึกษาว่า หลังจากนี้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าใส่ใจในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดมันอาจจะไม่ทำให้ปัญหาหมอกควันหายไป แต่หวังว่าให้ลดความรุนแรงลงได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

นายจิตรกร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากคืนนี้ได้มีการทำบุญกุศลศพ อ.ระวิวรรณ เป็นคืนสุดท้าย พรุ่งนี้ตนเองและครอบครัวจะมอบร่าง อ.ระวิวรรณ ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อไปตามที่ อ.ระวิวรรณ ตั้งใจไว้.