จุฬาฯ จัดงานเสวนาวิชาการ Chula The Impact ครั้งที่ 22 "เสริม Soft Power ด้วยภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ" หวังเป็นกุญแจดอกสำคัญ ให้ชาวต่างชาติสามารถที่จะเข้าถึงประสบการณ์แบบไทยๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิม

วันที่ 4 เมษายน 2567 มีรายงานว่า ณ ศูนย์มนุษยศาสตร์ดิจิทัล อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาวิชาการ Chula The Impact ครั้งที่ 22 "Mastering Thai at Your Own Pace: Soft Power through Self-Directed Learning" โดยศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับมูลนิธิไทย จัดทำคลิปวีดิทัศน์ Communicative Thai for Foreigners จำนวน 9 ภาษา เผยแพร่ทาง Chula MOOC และในรูปของ E-book ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ Soft Power ของไทยที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากชาวต่างชาติ

โดยมี รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ คุณธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย ได้ร่วมเสวนาเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาต่างประเทศสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติสามารถที่จะเข้าถึงประสบการณ์แบบไทยๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิมผ่านการเรียนรู้และเข้าใจภาษาไทยเบื้องต้น ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ 

...

รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ทั้งนี้ รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงภาษาไทยในฐานะที่เป็น Soft Power ว่า ภาษาไทยเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิด Soft Power เนื่องจากคนไทยใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร 

ดังนั้น การที่คนต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทยจะใช้เฉพาะภาษาอังกฤษในการสื่อสารเพียงอย่างเดียวก็อาจจะขาดอรรถรสในการเข้าใจประเทศไทย หากชาวต่างชาติได้เรียนรู้ภาษาไทยเบื้องต้นจะช่วยสร้างความเข้าใจและขยายประสบการณ์ในการท่องเที่ยวในเมืองไทยได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นที่รู้จักจากนานาประเทศมากขึ้นในเรื่องของการท่องเที่ยว และจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้คลี่คลายลง โครงการสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาต่างประเทศสำหรับชาวต่างชาติจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติสามารถสื่อสารให้เข้าถึงภาษาไทยได้ง่ายและสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ ความโดดเด่นของคลิปวีดิทัศน์ Communicative Thai for Foreigners คือการสอนจะไม่ได้ใช้เพียงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่จะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาต่างประเทศที่พร้อมจะสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติด้วยภาษาที่หลากหลาย จึงทำให้สื่อการเรียนการสอนทางออนไลน์นี้เป็นที่จับตามองของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 

"คลิปวีดิทัศน์ Communicative Thai for Foreigners เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่สื่อสารภาษาไทยไปถึงระดับนานาชาติ ตอบสนองพันธกิจของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทย รวมทั้งการพัฒนา องค์ความรู้เกี่ยวกับไทย โดยมีการสอดแทรกมิติทางวัฒนธรรมไทยเข้าไปในการเรียนการสอน เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ ในวัฒนธรรมไทยและคนไทยในเวลาเดียวกัน" รศ.ดร.สุรเดช กล่าว

ผศ.ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ผศ.ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ผศ.ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศมีพันธกิจในการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติในทุกรูปแบบ ทั้งในเรื่องของการเปิดหลักสูตรและรายวิชาภาษาไทยที่สอนในจุฬาฯ และหลักสูตรสำหรับบุคคลภายนอก การพัฒนาผู้สอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ การทำงานวิจัยเกี่ยวกับการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ รวมถึงการผลิตสื่อการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ คลิปวีดิทัศน์ Communicative Thai for Foreigners เป็นสื่อที่ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศที่เข้าถึงได้ง่าย ผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ กลุ่มเป้าหมายคือชาวต่างชาติที่สนใจเรียนภาษาไทยซึ่งสามารถเรียนจากที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ ช่วยให้ชาวต่างประเทศเข้าถึงการเรียนภาษาไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น 

ผศ.ดร.เกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า คลิปวีดิทัศน์นี้เป็นสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติโดยที่ผู้เรียนไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้ในการอ่านหรือเขียนภาษาไทยโดยใช้ตัวอักษรไทย เนื่องจากคลิปวีดิทัศน์นี้ใช้สัทอักษรหรือ Phonetics ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นักภาษาศาสตร์ใช้ในการศึกษาภาษานำปรับใช้ในการเรียนการสอนภาษาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจการออกเสียงคำและประโยคต่างๆ เนื้อหาของคลิปวีดิทัศน์จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารระดับเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน เช่น การสั่งอาหาร ซื้อของ การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ การพูดแนะนำตัว พูดถึงครอบครัวและเรื่องทั่วไป ประกอบด้วยคลิปวีดิทัศน์ Communicative Thai for Foreigners จำนวน 9 ภาษา ได้แก่ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน

"รูปแบบของคลิปวีดิทัศน์นอกจากจะเผยแพร่พร้อมกับเอกสารประกอบการเรียนแบบ E-book ในสองแพลตฟอร์ม คือ Chula MOOC และเว็บไซต์ของมูลนิธิไทยแล้ว คลิปวีดิทัศน์นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนนิสิตในรายวิชา "Basic Thai for Communication" และ "Basic Thai for Foreigners" จากการใช้คลิปในการสอนนิสิต ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับจากนิสิตเป็นอย่างดี" ผศ.ดร.เกียรติ กล่าว 

คุณธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย
คุณธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย

ด้านคุณธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาษาไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ เนื่องจากมีแรงงานและนักธุรกิจต่างชาติมาประกอบอาชีพและประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น 

นอกจากนี้ประเทศไทย ยังเป็นศูนย์กลางการให้บริการในหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษาและการแพทย์ รวมถึงสื่อบันเทิงจากประเทศไทย ก็ได้รับความนิยมในต่างประเทศเช่นกัน ทั้งในรูปของภาพยนตร์ ละครชุด (Series) และแม้แต่เพลงผ่านอินเทอร์เน็ต ก็เข้าถึงผู้คนทั่วโลกที่ต้องการรู้ภาษาไทยเพื่อการรับชมรับฟังอย่างมีอรรถรสมากขึ้น มูลนิธิไทยซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศที่ทำงานด้านการทูตภาคประชาชน หรือการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อเผยแพร่การใช้ภาษาไทยรองรับความต้องการของชาวต่างประเทศ มูลนิธิไทยจึงได้หาพันธมิตรเพื่อสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาต่างประเทศให้ครอบคลุมภูมิภาค ต่างๆ ทั่วโลกให้มากที่สุด โดยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาต่างประเทศเผยแพร่ในรูปของ E-book ให้ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิไทย 

ทั้งนี้มูลนิธิไทยยังร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยด้วยภาษาอาหรับ ภาษาฮินดี ภาษาอินโดนีเซีย และภาษาตุรกีอีกด้วย

เมื่อถามว่าคนไทยจะได้รับประโยชน์อะไร คุณธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย กล่าวว่า ภาษาคือกุญแจในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ มากมาย ซึ่งเราต้องการให้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าถึงความเป็นไทย อาจเริ่มจากคอนเทนต์ต่างๆ อย่างเช่น มีศิลปินนักร้องไทยไปร้องเพลงในต่างประเทศแล้วมีคนร้องตามเป็นภาษาไทย เช่นเดียวกับเวลาบอยแบรนด์ของเกาหลีใต้ไปเปิดคอนเสิร์ตแล้วมีคนร้องตามเป็นภาษาเกาหลี ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เกิดโอกาส สามารถต่อยอดไปมากมาย 

ผศ.ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในเรื่องของกระแสตอบรับ ตนได้เตรียมข้อมูลมา เป็นจำนวนผู้เข้าเรียนทั้งหมดแนตามหลักสูตร ทั้งจากผู้เข้าเรียนในเว็บไซต์มูลนิธิไทย (รวม 13,091 คน) และ จำนวนผู้เข้าเรียนในเว็บไซต์ Chula MOOC (รวม 12,231 คน) โดยผู้ที่เข้าเรียนมากที่สุดคือ หลักสูตรภาษาไทยสำหรับผู้พูดอังกฤษ ผู้พูดภาษาเขมร ผู้พูดภาษาเวียดนาม ตามลำดับ โดยขณะนี้มีผู้ได้รับประกาศนียบัตรทั้งหมดแยกตามหลักสูตรจากมูลนิธิไทยไปแล้ว จำนวน 1,296 คน และรับกับ Chula MOOC ไปแล้ว 1,027 คน 

ผู้สนใจสามารถรับชมงานเสวนาวิชาการ Chula The Impact ครั้งที่ 22 Mastering Thai at Your Own Pace: Soft Power through Self-Directed Learning ย้อนหลังได้ (คลิก)