รู้ไว้เลยถ้าไม่อยากตกเทรนด์ รวมคำศัพท์ตัวแม่ ฉบับอัปเดตปี 2024 ตั้งแต่ช่วง 1 ม.ค.-31 มี.ค. มีคำไหนบ้างที่คนใช้และพูดถึงมากที่สุด

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มี "คำศัพท์" บนโลกโซเชียลเกิดขึ้นใหม่แทบจะทุกวัน เนื่องจากเป็นแหล่งรวมคอมมูนิตี้กลุ่มย่อยมากมาย ทำให้มีการคิดค้นคำศัพท์เพื่อสื่อสารกันเฉพาะกลุ่ม เมื่อมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ก็กลายเป็นคำศัพท์ฮิตขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำศัพท์ที่ติดปากเหล่าตัวแม่ ตัวมัมทั้งหลาย

ขณะที่ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์ฮิต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–31 มีนาคม 2567 โดยพบว่ามีการพูดถึงคำศัพท์สุดฮิต โดยรวมกว่า 1,853,822 messages ได้รับเอนเกจเมนต์รวมกว่า 249 ล้านครั้ง มีอัตราการเติบโตสูงมาก

ช่องทางแพลตฟอร์มที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด คือ ทวิตเตอร์ (X) ถูกพูดถึงมากกว่า 62.28% หรือ 1,155,478 messages 82,415,184 engagement  และวันที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่เป็นช่วงเวลาที่ถูกยกว่าเป็น "วันกะเทยผ่านศึก" ที่ถึงแม้ว่าเรื่องจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม แต่เรื่องราวนี้ยังมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในวันที่ 6 มีนาคม 2567 ยังเป็นวันเปิดตัว เตนล์ ชิตพล ขึ้นเป็น Brand Ambassador จนทำให้คีย์เวิร์ด #saintlaurentxten พุ่งขึ้นสูง ได้รับการพูดถึงไปมากกว่า 11,078 messages

ช่องทางที่พูดถึงกลุ่มคำศัพท์ฮิตเหล่านี้ รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก ที่คิดเป็น 27.61% หรือ 511,858 messages 46,310,950 engagement ตามมาด้วย TikTok ที่ถูกพูดถึงมากกว่า 16,353 messages หรือ 81,173,827 engagement

นอกจากนี้ยังมี YouTube 70,843 messages หรือ 2,111,739 engagement  Instagram 78,147 messages หรือ 37,299,464 engagement และบนช่องทางอื่นๆ อีก 21,143 messages หรือ 21,748 engagement  

...

คำว่า "กี่โมง"

เมื่อสำรวจความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียพบว่า คีย์เวิร์ด "กี่โมง" ได้รับความนิยมมากถึง 329,978 messages หรือคิดเป็น 34,099,305 engagement และช่องทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือบน ทวิตเตอร์ (X) ที่พูดถึงมากกว่า 197,250 messages หรือคิดเป็น 8,624,764 engagement

เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ถูกพูดถึงนั้น จะเป็นในลักษณะตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ แต่ไม่ได้ต้องการคำตอบเป็นเวลาว่า ณ ขณะนั้นกี่โมง เช่น ประโยคว่า สวยกี่โมง ก็หมายถึง ณ ขณะนี้ยังไม่สวยนะ เมื่อไหร่จะสวย ในเชิงตลกขบขัน

คำว่า "ทำถึง"

ในขณะที่คีย์เวิร์ดที่ได้รับความนิยมต่อมาคือ "ทำถึง" ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะได้ถูกพูดถึงไปมากกว่า 216,475 messages หรือคิดเป็น 40,705,946 engagement และช่องทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ทวิตเตอร์ (X) ที่ถูกพูดถึงไปมากกว่า 157,157 messages หรือคิดเป็น 18,194,073 engagement 

เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ถูกพูดถึง จะเป็นลักษณะชื่นชมว่าทำได้ดี ทำถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ทำได้สุดยอด โดยหลายๆ ครั้ง จะมีคำพ่วงเป็น "ทำถึงเกิน" ซึ่งก็ยังเป็นความหมายเชิงบวกอยู่ ที่แปลว่า ทำได้ดีมาก

คำว่า "คุณน้า"

และอีกหนึ่งคำสุดฮิตคงหนีไม่พ้นคำติดปากอย่าง "คุณน้า" ที่ได้รับความนิยมมากถึง 236,501 messages หรือคิดเป็น 27,323,642 engagement และช่องทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือบน ทวิตเตอร์ (X) เช่นเดียวกัน โดยคำว่า "คุณน้า" ถูกพูดถึงไปมากกว่า 209,362 messages หรือคิดเป็น 12,106,137 engagement 

โดยในบริบทนี้ ไม่ได้แปลว่าน้องสาวคุณพ่อคุณแม่แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงคำสร้อย เพื่อเพิ่มอรรถรสของบทสนทนาเท่านั้น ส่วนใหญ่มักจะใช้ร่วมกับคำว่า ทำถึง เช่น "ทำถึงเกินคุณน้า" ที่ไม่ได้เป็นการชมน้องสาวของพ่อว่าทำได้ดี แต่แค่ต้องการชมว่า ทำสิ่งนี้ได้ดีเฉยๆ หรือคำว่า "นอยด์อ่า คุณน้า" มีความหมายว่า เซ็ง นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า เริด, จึ้ง, พส, โฮ่ง, คือที่, จะเครซี่, คนไทยคนแรก, ฉ่ำเกิน หรืออื่นๆ ที่เป็นเหล่าคำฮิตแล้ว ยังได้รับการถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ เห็นได้ว่าคนไทยนิยมมีคำสร้อยต่อท้ายประโยค เพื่อให้มีความน่าสนุกสนาน และเพิ่มอรรถรสของบทสนทนา.