คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือ "ไทยรัฐทีวี" ทำ MOU สร้างความร่วมมือทางวิชาการให้นักศึกษา บูรณาการความรู้กับองค์กรสื่อ พร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทํางาน
วันที่ 27 มีนาคม 2567 ณ ห้อง 211 อาคาร 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐทีวี) ได้ลงนามความร่วมมือ MOU ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดการศึกษาเชิงบูรณาการความรู้กับองค์กรสื่อ เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการให้นักศึกษาได้ฝึกการคิด วางแผน การปฏิบัติ และสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ (Competency) ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) ทัศนคติ (Attitudes) และคุณลักษณะที่ตรงกับผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ของหลักสูตรตรงกับความต้องการของตลาดงาน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติและพร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทํางานปัจจุบัน
โดย ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดี สายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การทำ MOU เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างเรากับสถานประกอบการ เพื่อเป็นแหล่งที่จะให้นักศึกษาไปฝึกงาน หรือไปทำงานจากประสบการณ์จริงได้ เพราะจริงๆ แล้วในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า นักศึกษาถ้าเรียนอย่างเดียวมันไม่พอ จะต้องมีการ Hand on ต้องรู้สภาพแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะหาได้จากสถานประกอบการ จริงๆ แล้วสถานประกอบการ เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งของนักศึกษาเลย เพราะฉะนั้นการที่เรามีความร่วมมือกันอย่างน้อยสองฝ่ายก็จะเกิดวินวิน สิ่งสุดท้ายที่จะได้ คือได้กับตัวนักศึกษาเอง
...
เพราะอย่างตัวมหาวิทยาลัย ก็มีหลายหลายสาขาให้นักศึกษาไปทำคอนเทนต์ได้ แต่ส่วนไทยรัฐทีวี ก็จะมีเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับนักศึกษา ในการที่จะให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เพราะตอนนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปไวมาก เราก็มีอุปกรณ์ให้กับนักศึกษา แต่บางครั้งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเทคนิคต้องไปเรียนรู้จากสถานประกอบการ นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ และแก้ไขปัญหาจาสถานการณ์จริงๆ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้นักศึกษาเรียนรู้
ซึ่งตอนนี้หลักสูตรของเราส่วนใหญ่ บางหลักสูตรนักศึกษาออกไปทำงาน ที่สถานประกอบการตั้งแต่ ปี 1 บางหลักสูตรนักศึกษาอาจจะไปช่วงซัมเมอร์ เพราะเราอยากให้นักศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์จากข้างนอก เพราะตอนนี้ความรู้อยู่ทั่วทุกแห่ง การที่นักศึกษาไปเจอคนเยอะๆ ไปทำงานในสภาพแวดล้อมจริง จะฝึกให้เขาเป็นคนที่เก่งและสามารถแก้ไขปัญหา เรียนรู้โจทย์จริงๆ จากธุรกิจได้ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการ
จริงๆ เราปรับหลักสูตรมานานมาแล้ว อย่างนักศึกษาที่เข้ามาเรียนกับมหาวิทยาลัย เราจะคิดอยู่เสมอว่าทำไมนักศึกษาถึงเข้ามาเรียน เพราะความรู้มันหาได้ทุกที่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะให้กับนักศึกษาคือ 1.คอนเน็กชัน ซึ่งถ้าทั่วๆ ไป นักศึกษาจะเข้าไปร่วมกับไทยรัฐทีวีคงไม่ได้ ถ้าไม่มีสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งที่เป็นสื่อกลางที่ส่งนักศึกษาเข้าไป และคุยกับผู้ประกอบการว่าเราจะเป็นพี่เลี้ยงร่วมกัน 2.เครื่องมือที่เราให้กับนักศึกษาทุกหลักสูตร ถ้าเป็นโฮมสคูลเขาก็จะไม่ได้เรียน ไม่ได้สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ 3.เรามีการพัฒนาหลักสูตร เพื่อสร้างซอฟต์สกิลให้กับเด็กๆ
อย่างที่รู้กันอยู่ว่า AI จะเข้ามา แต่การเข้ามามันจะรับกับการทำงานจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเราต้องให้นักศึกษาเข้าใจด้วยว่าเราสามารถเอา AI มาครีเอตคอนเทนต์ได้ แต่สุดท้ายเราก็ต้องเป็นคนตรวจสอบคอนเทนต์ จะต้องเป็นคนที่ AI ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เราจะต้องให้นักศึกษาเราเรียนรู้ มีการปรับหลักสูตรสร้างซอฟต์สกิลให้กับนักศึกษา ไม่ว่าจะด้านทีมเวิร์ก การใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือการแก้ไขปัญหา พวกนี้คือสิ่งที่เราปลูกฝังให้กับนักศึกษาทุกหลักสูตรของเรา
ด้าน คุณธัญปัฐณ์ เรืองจรัส ผู้อำนวยการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล อาวุโส บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กับทางไทยรัฐทีวีที่ได้มีการลงนามกันก็คือ เราต้องการจะจับมือร่วมกันในเรื่องของการบูรณาการความรู้ในรั้วของมหาวิทยาลัย กับประสบการณ์ที่นักศึกษาจะได้พัฒนาทักษะกับการมาทำงานจริงกับผู้ที่รู้จริงในสถานประกอบการของเรา เพื่อพัฒนานักศึกษาให้เขามีวิธีคิดและฝึกปฏิบัติ เตรียมตัวให้มีความพร้อมที่จะกลายไปเป็นคนรุ่นใหม่ ที่จะต้องเข้าไปทำงานในองค์กรยุคใหม่
เขาก็จะได้เรียนรู้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ที่คุณจะต้องรู้ทั้งหมดที่เป็นในส่วนของวิชาชีพ และในเรื่องของทักษะ ทักษะอันนี้ไม่ได้หมายถึงทักษะเฉพาะทางอีกต่อไปแล้ว แต่จริงๆ มันหมายถึงมัลติสกิล นักศึกษาจะต้องรู้ว่าทักษะที่ความหลากหลาย ทำไมจะต้องมาตระหนักถึง เพราะเวลาเข้าไปทำงานจริงๆ ในองค์กร สิ่งแรกที่จะต้องไปเจอกับความหลากหลายของเจน วิธีคิดของคนที่ไม่ได้คิดเหมือนคนกลุ่มเรา คนทำงานในองค์กรเอง ต่างเจนต่างความคิด
เพราะฉะนั้นในเวลาเข้ามา เขาจะต้องปรับตัวในเรื่องของวิธีคิดว่า ความหลากหลายในการบูรณาการความคิด ว่าจะทำอย่างไรให้มีมัลติสกิล ยอมรับความแตกต่าง แล้วก็สามารถที่จะบริหารจัดการภายใต้ความหลากหลายพวกนี้ได้ ก็จะสามารถทำให้เขาปรับตัวได้ทั้งงาน คน และความรู้
แน่นอนเราอยากได้คนมีความรู้ มีทักษะ มีคุณลักษณะที่ดี ที่เอื้อในการที่เราจะคัดเลือกไปเป็นพนักงานของเรา แต่เท่านั้นมันยังไม่เพียงพอ เราอยากได้คนรุ่นใหม่ ที่เรียนรู้เร็ว ปรับตัวเร็ว ภายใต้ปลอดภัย เขาก็จะสามารถที่จะมีความเข้าใจและยอมรับความแตกต่าง
สำหรับการพิจาณาคนเข้าองค์กร จริงๆ เวลาเราจะรับคนสักตำแหน่ง มันจะมีคุณลักษณะที่เรากำหนดไว้ เราอยากได้ความรู้แบบนี้ ทักษะแบบนี้ หรือคุณลักษณะแบบนี้ เพราะฉะนั้น เราจะผ่านขั้นตอนตั้งแต่เรื่องของการคัดเลือกมาแล้วว่ามันตรงกับสิ่งที่เราล็อกเอาไว้หรือเป่า แต่มันก็จะถูกคัดกรองในเรื่องของการสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ว่าความรู้ที่เขามีทำอะไรได้บ้าง
แต่จะไม่ใช่การสัมภาษณ์เหมือนแต่ก่อน เราจะยกเคส ยกสถานการณ์จริง แล้วก็วิธีการที่คุณทำ แต่สำหรับนักศึกษาที่จบใหม่ เราก็จะถามวิธีคิด แล้วให้เขายกสถานการณ์ เพื่อให้เห็นวิธีคิดของเขา พอเราคิดว่าคนที่มีความรู้ ทักษะคุณลักษณะที่เราคิดว่าเหมาะกับองค์กรแล้ว ก็จะใช้คำถาม เพื่อที่จะเจาะให้ได้ว่ามีความต้องการที่สอดคล้องกับองค์กรหรือเปล่า
เช่นของไทยรัฐเราต้องการคนที่พร้อมร่วมมือการทำงานเป็นทีม ฉะนั้นวิธีการถาม ก็จะเป็นการยกเคสยกสถานการณ์ และฟังวิธีตอบของเขา ที่จะบอกวิธีคิดของเขาเช่นเดียวกัน พอผ่านสเตปนั้นมาแล้ว เราก็ยังต้องทำการทดสอบว่าคุณเป็นคนแบบไหน หรือถ้าเป็นเฉพาะทางก็ทดสอบจริง เพื่อให้ได้คนที่โอเคที่สุด ตรงกับเราที่สุด
ฝากถึงนักศึกษาที่จบใหม่ ไม่ต้องกังวลว่าคุณไม่มีประสบการณ์ เดี๋ยวนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนแล้ว ขอแค่คุณจับหลักว่าคนที่องค์กรต้องการ ต้องมีความรู้ที่ดี กลับไปดูที่ตัวเองเลยว่าต้องมีความรู้ แล้วมีทักษะ มีความคิดและมีคุณลักษณะที่ดี หากคุณมีเหล่านี้จะเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก
เพราะเดี๋ยวนี้องค์กรเขาไม่ได้ดูความรู้อย่างเดียว เขาดูที่สมรรถนะ ขีดความสามารถ แล้วดูคุณลักษณะ คาแรกเตอร์ เพราะวิธีการถามไปเราจะเห็นวิธีการคิดของเด็ก นักศึกษาเขาก็จะพูดออกมา ก็เห็นแววว่าจะต่อยอดได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล ยกเว้นบางตำแหน่งที่ต้องการคนมีประสบการณ์จริงๆ อันนี้ก็ต้องยอมรับ แต่ว่าไม่ต้องกังวลว่าเด็กจบใหม่จะสู้เขาไม่ได้ เราจะต้องไม่ตั้งด้วยวิธีคิดแบบนี้.