ทีม SEhRT กรมอนามัย ร่วมกับ กปภ. แจงเหตุพบ "ไรแดง" ในน้ำประปา จ.เพชรบูรณ์ พร้อมเร่งตรวจสอบระบบการผลิตน้ำประปาทุกขั้นตอน
จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปของตัวประหลาดสีแดงไหลออกมากับน้ำประปาที่ จ.เพชรบูรณ์ ต่อมาเจ้าหน้าที่การประปาฯ ชี้แจงว่าคือ "ไรแดง" ไม่เป็นอันตราย และกำลังเร่งตรวจสอบและแก้ไข ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (เฉลยแล้ว ตัวประหลาดสีแดงไหลออกมากับน้ำประปา เจ้าหน้าที่แจงไม่อันตราย)
ล่าสุดวันที่ 19 มีนาคม 2567 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวระบุว่า จากกรณีประชาชนพบสิ่งแปลกปลอมรูปร่างคล้ายหนอนสีแดง ปลายหางสองแฉก ในน้ำประปาของพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลบึงสามพัน อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลเรื่องความสะอาด และไม่กล้าใช้น้ำประปา อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน และกังวลว่าบุคคลในครอบครัว บุตรหลานจะเกิดอันตราย
เบื้องต้นกรมอนามัยตรวจสอบข้อมูล พบว่าสิ่งแปลกปลอมดังกล่าว คือ หนอนแดง หรือไรแดง ซึ่งเป็นตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด มีลักษณะคล้ายยุงเมื่อโตเต็มวัย หนอนแดงไม่เป็นอันตราย หรือไม่เป็นพาหะนำโรค แต่อาจทำให้เกิดการแพ้สำหรับผู้ที่มีผิวบอบบาง หรือผิวหนังไวต่อสิ่งแปลกปลอม การพบหนอนแดงปนเปื้อนในน้ำประปาพื้นที่ดังกล่าว บ่งชี้ว่ากระบวนการผลิตน้ำประปา ระบบฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา หรือระบบท่อน้ำประปา อาจมีปัญหาจนทำให้ริ้นน้ำจืดสามารถเข้าไปวางไข่ จนเกิดเป็นหนอนแดงได้
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย จึงได้ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบึงสามพัน โรงพยาบาลบึงสามพัน และสำนักงานการประปาหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่สำรวจ พบว่าสาเหตุที่พบหนอนแดงในน้ำประปา อาจเกิดจากก่อนหน้านี้ ท่อประปาในระบบชำรุดเสียหาย ทำให้มีริ้นน้ำจืดเข้าไปวางไข่ และเป็นหนอนแดงออกมากับน้ำประปาในครัวเรือน
...
ประกอบกับปัญหาในขั้นตอนการผลิตน้ำประปาบางกระบวนการ ที่มีโอกาสเสี่ยงให้ตัวริ้นน้ำจืดมาวางไข่ได้ จึงต้องมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนในการผลิตอย่างเข้มงวดอีกครั้ง การประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ จึงส่งทีมเจ้าหน้าที่ดำเนินการซ่อมแซมท่อที่ชำรุดเสียหาย และระบายตะกอนในเส้นท่อทุกเส้นทั่วเขตอำเภอบึงสามพันแล้ว เพื่อให้ท่อประปาสะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อน
การประปาส่วนภูมิภาคเขต 10 งานควบคุมคุณภาพน้ำที่ 2 ทำการเก็บตัวอย่างน้ำประปา เพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำตามมาตรฐาน พบว่าปัจจุบันน้ำประปามีความปลอดภัย สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน กำหนดให้มีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาในชุมชน ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้น้ำของประชาชน
ล่าสุดทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่เพื่อตรวจทานกระบวนการผลิตน้ำประปาในแต่ละขั้นตอนอีกครั้ง แต่ยังพบหนอนแดงออกมากับน้ำประปา จึงมีข้อเสนอให้สำนักงานประปาหนองไผ่ และการประปาส่วนภูมิภาคเขต 10 เร่งตรวจสอบระบบการผลิตน้ำประปาทุกขั้นตอน
โดยทำการตรวจสอบ ตั้งแต่การควบคุมคุณภาพน้ำที่ใช้ทำน้ำประปา การตกตะกอน การกรอง การฆ่าเชื้อโรค และถังเก็บน้ำใส ตลอดจนสำรวจเส้นท่อ เพื่อจัดการปัญหาหนอนแดงค้างในระบบท่อประปา ตรวจสอบเส้นท่อ รอยแตก รั่ว ของท่อจ่ายน้ำประปามาตรวัดน้ำ และระบบน้ำประปาในครัวเรือน
รวมทั้งมอบหมายทีม SEhRT ทุกพื้นที่ ร่วมสำรวจและตรวจสอบคุณภาพน้ำประปา ตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ กระบวนการผลิต ตลอดจนน้ำประปาในครัวเรือน ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่หน้าร้อน บางพื้นที่เริ่มมีปัญหาน้ำแล้ง จะส่งผลให้น้ำมีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรกและเชื้อโรค
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถร่วมตรวจสอบน้ำในครัวเรือน และปรับปรุงคุณภาพน้ำได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- สังเกตลักษณะของน้ำประปา ต้องใส ไม่มีตะกอน ไม่มีสี และมีกลิ่นคลอรีนอ่อนๆ แสดงว่าน้ำปลอดภัย เพราะได้ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว
- หากกลิ่นคลอรีนฉุนเกินไป ให้เปิดน้ำประปาใส่ภาชนะที่สะอาด ทิ้งไว้สักพักกลิ่นจะจางหายไปเอง หรืออาจใช้เครื่องกรองน้ำชนิดที่มีไส้กรองคาร์บอน หรือแบบผงถ่านก็ได้
- ต้มน้ำให้เดือด เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาดื่มในบ้านเรือน เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก
- ดูแลความสะอาดเครื่องกรองน้ำ หากที่บ้านใช้เครื่องกรองน้ำ ให้ตรวจสอบการกรองและไส้กรอง เพื่อทำความสะอาด หรือรีบเปลี่ยนไส้กรองน้ำ หากพบการอุดตันหรือมีความสกปรกมาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองน้ำและไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
ที่สำคัญ กรมอนามัยยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการควบคุม กำกับ และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน เพราะน้ำเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับการใช้ชีวิตของประชาชน กรมอนามัยยังคงมุ่งมั่น และให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน ให้ประชาชนได้มีน้ำใช้ น้ำอาบ และน้ำดื่มในครัวเรือนได้อย่างปลอดภัย.