กรมทะเลและชายฝั่ง แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" เกาะสุกร ชี้ เป็นการรบกวนการดำรงชีวิต พร้อมย้ำเป็น "สัตว์คุ้มครอง" ห้ามนำเข้าหรือส่งออก

วันที่ 17 มีนาคม 2567 มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า กรณีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 มีลงข่าวว่า ที่เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง พบกลุ่ม "กัลปังหาแดง" หรือ "Sea Fan" โผล่พ้นน้ำหลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด เผย 1 ปี มีให้เห็นแค่ไม่กี่ครั้ง และเป็นกัลปังหาแดงกลุ่มเดียวในจังหวัดตรังที่พบในเขตน้ำตื้น กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร ที่นักท่องเที่ยวแห่ชมความสวยงาม ตื่นตาตื่นใจกันตั้งแต่เช้า

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขอเรียนว่า กัลปังหา (Sea Fan) คือสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง กัลปังหาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวกัลปังหา (polyp) ที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวนแปดเส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างของกัลปังหา

และอีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้าน คล้ายพัดและซี่หวีแล้วแต่ชนิด กิ่งโครงสร้างนี้ตัวกัลปังหาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเอง และเป็นสารจำพวกเขาสัตว์ (keratin) ชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้ และจะช่วยพัดพาของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกัลปังหาออกไป โดยกัลปังหาจะใช้หนวดในการดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงก์ตอน

ดังนั้น การรบกวนกัลปังหาและแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น การสัมผัส การเหยียบย่ำ การทำให้เกิดการฟุ้งของตะกอน จะเป็นการรบกวนการหาอาหาร และการดำรงชีวิตของกัลปังหาได้

...

กัลปังหามีประโยชน์ โดยเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิด โดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน แต่ด้วยการที่กัลปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม จึงเกิดค่านิยมผิดๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำมาประดับตู้ปลา นำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งนำส่วนที่เป็นแกนในสีดำ มาทำเป็นเครื่องรางของขลัง เครื่องประดับ

ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากัลปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ในปัจจุบัน สามารถรับรองได้เลยว่า กัลปังหามีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาโรคได้จริงตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ

อีกทั้งในระบบนิเวศตามธรรมชาตินั้น สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำลายหรือย้ายกัลปังหาจากแหล่งที่อยู่เดิม ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก

ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่มีที่หลบสัตว์นักล่า จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอาจสูญพันธุ์ได้ อีกทั้งกัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโตเพียงแค่ 1 ฟุต และในหนึ่งต้นนั้น มีตัวกัลปังหาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การทำลายกัลปังหาหนึ่งต้น เท่ากับทำลายตัวกัลปังหาหลายหมื่นหลายแสนตัว และเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย

ทั้งนี้ กัลปังหา เป็นสัตว์คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจะมีไว้ในครอบครอง ทำการค้าขาย หรือนำเข้า-ส่งออกโดยเด็ดขาด (ทั้งที่ยังมีชีวิตหรือเป็นซาก) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงห้ามครอบครอง เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท

ภาพจาก : มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง