จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมอนามัย เปิดตัวหลักสูตรผู้บริหาร ด้านการแพทย์และสุขภาพ "เวฬา" รุ่นที่ 2

มีรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนา หลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ พร้อมเปิดตัวหลักสูตรผู้บริหาร ด้านการแพทย์และสุขภาพ "เวฬา" รุ่นที่ 2 หรือ "Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)" Batch 2 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจ บุคคลในภาคธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งในและต่างประเทศ 

โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเปิดหลักสูตรในครั้งนี้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงบริบทกระแสโลก เรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่มีผลต่อการบริการทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลก ทำให้มีสุขภาวะ คุณภาพชีวิต รวมถึงอายุขัยที่เปลี่ยนไปในทางบวก และเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาทักษะ ความรู้ และทัศนคติที่ดี รวมถึงการต่อยอดองค์ความรู้หรือการ Up-skill และ Re-skill ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ 

...

โดยทั้งสองฝ่าย มีความร่วมมือกันจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยการเปิดหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพหลักสูตร "เวฬา" รุ่นที่ 2 หรือ "Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)" Batch 2

เป็นหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจ บุคคลในภาคธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ มุ่งหวังที่จะพัฒนาคนที่เป็นผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ให้มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในด้าน Medical Hub และมุ่งผลลัพธ์เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ด้าน Good Health and Well-being

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมอนามัย ในการพัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์

และการเปิดตัวหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพ "เวฬา" รุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการส่งเสริมความรู้ เพื่อพัฒนาผู้นำองค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้มีความพร้อม รับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Medical Hub ของโลก ตลอดจนเพื่อการจัดการความรู้ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต และการยกระดับในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์หรือการบริการนวัตกรรมระดับชาติสู่ระดับนานาชาติต่อไป อีกทั้งยังเป็นส่งเสริมให้ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDGs ด้านการมีสุขภาพที่ดี Good Health and Well-being

แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยในฐานะกรมวิชาการและเป็นกรมหลักของกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจสำคัญที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่มวัยสุขภาพดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผ่านกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาองค์ความรู้ โดยนำผลลัพธ์มาขับเคลื่อนงาน

การลงนามความร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญทางด้านวิชาการของกรมอนามัย เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจ บุคลากรในภาคธุรกิจการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงบุคลากร ด้านสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ ได้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพ และการแพทย์ของประเทศไทย ที่จะเป็นผู้นำองค์กรในการพัฒนาและบริหารจัดการองค์กรให้พร้อมต่อการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

"เวฬา" เป็นหลักสูตรระยะสั้น ที่เน้นเพิ่มพูนความรู้สำหรับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร โดยเน้นเรื่อง Longevity ขับเคลื่อนสังคมไทยให้ "แก่ช้า อายุยืน อย่างมีคุณภาพ" ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ที่ล้ำหน้าและทันสมัยเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยหลักสูตร "เวฬา" รุ่นที่ 1 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก จากผู้บริหารที่เข้าอบรมกว่า 80 ท่าน จากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และพบว่าผู้เข้าอบรมมีการต่อยอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งระหว่างธุรกิจ ตลอดจน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งสามารถนำความรู้ไปต่อยอดและการขยายธุรกิจ ด้านการแพทย์และสุขภาพได้เพิ่มเติม สำหรับหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพ "เวฬา" รุ่นที่ 2 หรือ "Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)" Batch 2 จัดอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

โดยตลอดหลักสูตร จะมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นองค์ความรู้ที่ล้ำสมัย เช่น การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Reverse Aging) สุขภาพ เพศกับการมีอายุยืน (Sexual Health & Longevity) เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การนอนหลับ และสุขภาพจิต (Sleep and Mental Health) เป็นต้น โดยผสมผสานการเรียนในหลากหลายรูปแบบ (Learning Experiences)

ได้แก่ การบรรยายสรุปประเด็นสำคัญโดยวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก (Executive Brief) ขยายเครือข่ายผู้นำเปิดมุมมอง และโอกาสใหม่ๆ (Extensive Networking) เปิดประสบการณ์นวัตกรรมสุขภาพล้ำสมัยจากทั่วโลก (Innovation Showcase) เสวนาประเด็นร้อนด้านธุรกิจกฎหมาย และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง (Panel Discussion) สรรค์สร้างโปรเจกต์ พร้อมต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืน (Capstone Project) เยี่ยมชมนวัตกรรมในสถานที่จริงทั้งในและต่างประเทศ (Exclusive Site Visit)

เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้บริหาร/ผู้ประกอบการด้านธุรกิจ และการให้บริการด้านสุขภาพ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมหลักสูตรนี้ ไปใช้พัฒนาองค์กรและพัฒนาธุรกิจให้มีความโดดเด่นในด้านมาตรฐานการให้บริการทัดเทียม กับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ระดับนานาชาติ

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดหลักสูตร และสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารด้านการแพทย์และสุขภาพ "เวฬา (VELA)" รุ่นที่ 2 หรือ "Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)" Batch 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ที่ เว็บไซต์ https://lifelong.chula.ac.th/vela หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ กองนวัตบริการสุขภาวะ กรมอนามัย โทรศัพท์ 0-2590-4564

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย