รวม 5 คณะกายภาพบำบัด จากมหาวิทยาลัย ปี 2567 แนะหนทางสู่อาชีพ "นักกายภาพบำบัด" ต้องเรียนอะไร และจบไปสามารถประกอบอาชีพที่ไหนได้บ้าง
สำหรับในช่วงนี้คงเป็นช่วงที่ Dek67 เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น วันนี้จึงอยากมาแนะนำน้องๆ ที่อยากทำอาชีพ "นักกายภาพบำบัด" ให้รู้จักกับคณะและสาขากายภาพบำบัด จาก 5 มหาวิทยาลัยชื่อดัง ดังนี้
1. คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเรียนการสอนด้านกายภาพบำบัดในประเทศไทย คณะกายภาพบำบัด ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2508 ซึ่งในขณะนั้นเป็นโรงเรียนกายภาพบำบัด ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ต่อมาในปี 2542 โรงเรียนกายภาพบำบัดได้รับการยกฐานะเป็นคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแรกในประเทศไทยที่ริเริ่มหลักสูตรกายภาพบำบัดระดับปริญญา โดยเริ่มหลักสูตรระดับปริญญาตรีใน พ.ศ. 2508 ระดับปริญญาโทใน พ.ศ. 2526 และระดับปริญญาเอกใน พ.ศ. 2546
นอกจากการเรียนการสอนแล้ว คณะกายภาพบำบัด ยังได้ทำงานวิจัยด้านกายภาพบำบัดทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทางระบบประสาท ทางเด็ก ทางระบบหัวใจและการหายใจ ทางการยศาสตร์ ทางการออกกำลังกาย และด้านชุมชน อีกทั้งยังได้เริ่มหลักสูตรระดับปริญญาตรีทางกิจกรรมบำบัด โดยมีคลินิกกายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยนอกทางกายภาพบำบัด และทางกิจกรรมบำบัด เพื่อให้บริการกายภาพบำบัด และเป็นสถานวิจัยด้านกายภาพบำบัด
รายละเอียดหลักสูตร
ในระดับปริญญาตรี มี 2 หลักสูตร ได้แก่
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (Bachelor of Science Program in Physical Therapy)
...
- ค่าใช้จ่าย 25,000 ต่อภาคการศึกษา
- อัตราการจบการศึกษา ร้อยละ 86.75 ของนักศึกษาปีการศึกษา 2566
- อัตราการได้งานทำ ร้อยละ 69.35 ของผู้จบการศึกษา
- ค่ามัธยฐานเงินเดือน 20,000 บาท
2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากิจกรรมบำบัด (Bachelor of Science Program in Occupational Therapy)
- ค่าใช้จ่าย 25,000 ต่อภาคการศึกษา
- อัตราการจบการศึกษา ร้อยละ 94.29 ของนักศึกษาปีการศึกษา 2566
- อัตราการได้งานทำ ร้อยละ 79.17 ของผู้จบการศึกษา
- ค่ามัธยฐานเงินเดือน 17,315 บาท
เกณฑ์การรับสมัครใน TCAS67
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด
- รอบ 1 Portfolio รับ 20 คน
- รอบ 2 Quota รับ 40 คน
- รอบ 3 Admission รับ 25 คน
- รอบ 4 Direct Admission ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากิจกรรมบำบัด
- รอบ 1 Portfolio รับ 15 คน
- รอบ 2 Quota รับ 15 คน
- รอบ 3 Admission รับ 15 คน
- รอบ 4 Direct Admission ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล และการรับสมัครเพิ่มเติมได้ที่นี่ (คลิก)
2. คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ได้ก่อตั้งขึ้นตามโครงการพัฒนามหาวิทยาลัย ศูนย์องครักษ์ จังหวัดนครนายก ในปี พ.ศ. 2531 ในนาม "โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด" เพื่อผลิตบัณฑิตสาขากายภาพบำบัด โดยเปิดรับนิสิตกายภาพบำบัดรุ่นที่ 1 ในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งจัดว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตนักกายภาพบำบัดเป็นลำดับที่ 5 ในประเทศไทย
จากนั้นได้ปรับชื่อเป็น "คณะสหเวชศาสตร์" เพื่อให้การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยครอบคลุมสาขาอื่นๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยและประชาชน และในปี พ.ศ. 2553 เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งได้เปิดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิชากายภาพบำบัดเพิ่มเติม
ต่อมาในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ที่ประชุมมีมติอนุมัติเปลี่ยนชื่อคณะสหเวชศาสตร์ เป็น "คณะกายภาพบำบัด" เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดการศึกษา โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
รายละเอียดหลักสูตร
หลักสูตรปริญญามี 3 หลักสูตร ได้แก่
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (Bachelor of Science Program in Physical Therapy)
- ค่าใช้จ่าย 31,000 ต่อภาคเรียน
- อัตราการจบการศึกษา ร้อยละ 98.82 ของนักศึกษาปีการศึกษา 2566
- อัตราการได้งานทำ ร้อยละ 97.26 ของผู้จบการศึกษา
- ค่ามัธยฐานเงินเดือน 30,000 บาท
2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากิจกรรมบำบัด (Bachelor of Science Program in Health Promotion)
- ค่าใช้จ่าย 35,000 ต่อภาคเรียน
3. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ (Bachelor of Science Program in Health Promotion)
- ค่าใช้จ่าย 30,000 ต่อภาคเรียน
- อัตราการจบการศึกษา ร้อยละ 100 ของนักศึกษาปีการศึกษา 2566
- อัตราการได้งานทำ ร้อยละ 100 ของผู้จบการศึกษา
- ค่ามัธยฐานเงินเดือน 25,000 บาท
เกณฑ์การรับสมัคร TCAS67
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด
- รอบที่ 1 Portfolio รับ 50 คน
- รอบที่ 2 Quota รับ 13 คน
- รอบที่ 3 Admission รับ 37 คน
- รอบที่ 4 Direct Admission ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากิจกรรมบำบัด
- รอบ 1 Portfolio รับ 20 คน
- รอบ 2 Quota รับ 5 คน
- รอบ 3 Admission รับ 5 คน
- รอบ 4 Direct Admission ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
3. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ
- รอบ 1 Portfolio รับ 25 คน
- รอบ 2 Quota รับ 5 คน
- รอบ 3 Admission รับ 30 คน
- รอบ 4 Direct Admission ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และการรับสมัครเพิ่มเติมได้ที่นี่ (คลิก)
3. คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (Bachelor of Science Program in Physical Therapy) มุ่งผลิตนักกายภาพบำบัด ผู้ทำหน้าที่ตรวจและวินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว อันเนื่องมาจากโครงสร้างร่างกาย ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาสุขภาพในคนทุกวัย
โดยมีหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าใจหลักการทางทฤษฎี และการเรียนรู้ทักษะการปฏิบัติทางคลินิก ทั้งในห้องปฏิบัติการและจากการฝึกงานจริง นอกจากนี้ยังเสริมหลักสูตรเพิ่มเติมให้นักศึกษาตามความถนัด เช่น กายภาพบำบัดในเด็กพิการ กายภาพบำบัดทางการกีฬา การส่งเสริมสุขภาพและความงาม
รายละเอียดหลักสูตร
- ค่าใช้จ่าย 600,650 บาท ตลอดหลักสูตร
เกณฑ์การรับสมัคร TCAS67
- รอบ 1 Portfolio ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
- รอบ 2 Quota ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
- รอบ 3 Admission รับ 50 คน
- รอบ 4 Direct Admission ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และการรับสมัครเพิ่มเติมได้ที่นี่ (คลิก)
4. คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มุ่งมั่นผลิตนักกายภาพบำบัด ที่มีความรู้และทักษะทางวิชาชีพที่สามารถให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการเนื้อหาในชั้นเรียนเข้ากับกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่น
การพัฒนาทักษะชีวิตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และดำรงชีวิตได้อย่างชาญฉลาดและมีความสุข รู้เท่าทันโลก รู้จักการแก้ปัญหา พัฒนาทักษะและนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างไม่จบสิ้น รวมทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการทำงานในบทบาทของบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายสุขภาพและประชาชน
รายละเอียดหลักสูตร
ในระดับปริญญาตรี มี 3 หลักสูตร ได้แก่
1. วท.บ.กายภาพบำบัด (B.Sc. Physical Therapy)
- ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 621,200
- อัตราการสำเร็จการศึกษา 86%
- อัตราการได้งานทำ 100%
- ค่ามัธยฐานเงินเดือน 20,000
2. วท.บ. วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสมรรถภาพทางการกีฬา (B.Sc. Exercise Science and Sports Performance)
- ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร : 439,000 บาท
- อัตราการสำเร็จการศึกษา : ยังไม่มีนักศึกษาจบ
- อัตราการได้งานทำ : ยังไม่มีนักศึกษาจบ
3. วท.บ.ชรัณสุขศาสตร์ (B.Sc. Gerontology)
- ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร : 438,900 บาท
- อัตราการสำเร็จการศึกษา : ยังไม่มีนักศึกษาจบ
- อัตราการได้งานทำ : ยังไม่มีนักศึกษาจบ
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต และการรับสมัครเพิ่มเติมได้ที่นี่ (คลิก)
5. คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
จุดเร่ิมต้นของ คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ตัดสินใจพัฒนาสถานฝึกผู้ช่วยพยาบาล ของโรงพยาบาลเซนต์ หลุยส์ที่มีอยู่เดิม ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชนพ.ศ. 2522
โดยทำโครงการจัดตั้งเป็นวิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ เสนอขอรับใบอนุญาตต่อทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2528 เป็นต้นมา นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนลำดับที่ 18 และเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์
ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2550 วิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดคณะกายภาพบำบัดภายใต้ชื่อโครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด ซึ่งเปิดสอนหลักสูตร กายภาพบำบัดบัณฑิต (Bachelor of Physical Therapy Program) โดยผ่านการอนุมัติหลักสูตรจาก สภาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 และได้รับความเห็นชอบหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและการรับรองปริญญาบัตรจากสภากายภาพบำบัด โดยเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในภาคต้น ปีการศึกษา 2551 เพื่อผลิตนักกายภาพบำบัดออกสู่สังคม
รายละเอียดหลักสูตร
- ชื่อหลักสูตร กภ.บ. กายภาพบำบัดบัณฑิต (Bachelor of Physical Therapy Program)
- ค่าใช้จ่าย อัตราค่าเล่าเรียน 632,000 ตลอดหลักสูตร (ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัว อาทิ ค่าหอพัก ค่าเครื่องแบบ)
- อัตราการจบการศึกษา ร้อยละ 75 ของนักศึกษาปีการศึกษา 2564 อัตราการได้งานทำ ร้อยละ 85 ของผู้จบการศึกษา
- ค่ามัธยฐานเงินเดือน 19,000 บาท
เกณฑ์การรับสมัครใน TCAS67
- รอบ 1 Portfolio รับ 10 คน
- รอบ 2 Quota รับ 12 คน
- รอบ 3 Admission รับ 20 คน
- รอบ 4 Direct Admission ไม่เปิดรับสมัครในรอบนี้
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ และการรับสมัครเพิ่มเติมได้ที่นี่ (คลิก)
เรียน "คณะกายภาพบำบัด" จบแล้ว สามารถประกอบอาชีพที่ได้บ้าง?
สำหรับผู้ที่ศึกษา "คณะกายภาพบำบัด" สามารถประกอบอาชีพ "นักกายภาพบำบัด" หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ประจำสถานที่ต่างๆ ที่มีการเปิดรับ โดยมีตัวอย่าง ดังนี้
- นักกายภาพบำบัดประจำโรงพยาบาลรัฐทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และศูนย์บริการสุขภาพที่จัดบริการโดยองค์กรชุมชน หรือโรงพยาบาลเอกชน สถานบริการสุขภาพอื่นๆ เช่น สถานบริบาลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง medical spa ฟิตเนส เป็นต้น
- ธุรกิจส่วนตัว เปิดคลินิกกายภาพบำบัด
- นักกายภาพบำบัด ในสถานออกกำลังกาย สถานเสริมความงาม หรือประจำทีมกีฬา
- นักกายภาพบำบัดประจำทีมกีฬา รวมถึงวิจัยทางด้านชีววิทยาศาสตร์และชีวกลศาสตร์
- นักกายภาพบำบัดประจำองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูแลคนพิการ เช่น มูลนิธิเด็กพิการ มูลนิธิคนพิการ หรือทำงานส่งเสริมฟื้นฟูและให้บริการสุขภาพแก่คนชายขอบ เช่น ผู้อพยพ หรือชาวเขา ตามจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ ทั้งนี้ ยังสามารถพัฒนาเป็นนักวิจัยหรือผู้จัดการโครงการร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ
- ผู้เชี่ยวชาญ ในการให้คำแนะนำด้านสุขภาพ
- เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบศูนย์บริการสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม "นักกายภาพบำบัด" ถือว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต หากน้องๆ คนไหนที่สนใจ หรือกำลังเล็งที่จะเรียนเกี่ยวกับด้านสุขภาพ "คณะกายภาพบำบัด" ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ทั้งนี้ก็ขอให้ทุกคนที่กำลังวางแผนศึกษาต่อในระบบ TCAS67 ได้มีที่เรียนสมหวังดังที่ปรารถนาทุกคนนะ.
อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์ mytcas.com, คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต และ คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์