พาทัวร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อีกหนึ่งคณะที่น่าสนใจ มุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้และเติบโตร่วมกัน พร้อมไขข้อสงสัยเรียนจบแล้วทำอาชีพอะไร
เรียกได้ว่าช่วงนี้น้องๆ Dek67 หลายคนกำลังมองหาคณะในฝันเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สำหรับใครที่ยังไม่มีคณะในใจหรือยังคิดไม่ออก ไทยรัฐออนไลน์ ขอแนะนำอีกหนึ่งคณะที่น่าสนใจในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นคือ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (Faculty of Learning Sciences and Education) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จุดเริ่มต้นของ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการศึกษาของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาโดยเฉลี่ยมากกว่า 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน แต่การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติ กลับพบว่าคุณภาพการศึกษาของไทยกำลังตกต่ำลง เนื่องจากระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และยังไม่สามารถจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการเผชิญต่อความท้าทายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเห็นความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
...
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเล็งเห็นความจำเป็นต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ จัดตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ขึ้นเป็นคณะที่ 19 ของมหาวิทยาลัย ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2557 โดยมีวิสัยทัศน์คือ การมุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้และเติบโตร่วมกัน
นางสาวนิยดา ยันตะพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (Faculty of Learning Sciences and Education) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือรู้จักกันในชื่อ LSEd (แอล-เส็ด) เป็นคณะใหม่ไหม ก็ไม่ได้ใหม่ขนาดนั้น เพราะตอนนี้คณะเรากำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว แต่ถ้าเทียบกับหลายคณะในธรรมศาสตร์ คณะเราก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ในวงการการศึกษา คณะเราก็ถือว่าเป็นหนึ่งในคณะที่ถูกกล่าวถึงอยู่เหมือนกัน
ที่นี่เราจะได้ยินคำว่า "ร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน" เสมอ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนในทุกมิติ และเป็นการเรียนรู้ที่เราร่วมกันประกอบสร้างมันขึ้นมา ไม่ใช่แค่นักศึกษาที่มาเรียนรู้กับอาจารย์ แต่เป็นทุกคนในคณะที่มาเรียนรู้ร่วมกัน
สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าเรียนที่นี่ ต้องย้อนกลับไปตอนเรียนมัธยม เราเป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องการศึกษามาก แต่ไม่รู้เลยว่าต้องเรียนอะไรหรือทำอย่างไรจึงจะทำให้การศึกษาไทยดีขึ้นได้ เพราะตอนนั้นเราเองก็รู้จักแค่ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จนกระทั่งได้รู้จักคณะนี้ในเว็บบอร์ด จึงศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับคณะเท่าที่ตอนนั้นสามารถหาข้อมูลได้ ทั้งหลักสูตร วิชา กิจกรรม ก็รู้สึกว่าเป็นคณะที่น่าสนใจมาก สำหรับสิ่งที่ดึงดูดเรามากที่สุดคือหลักสูตรและการเรียนแบบ active learning ยิ่งทำความรู้จักคณะ ก็ยิ่งอยากเข้าไปเรียนรู้ในคณะนี้มากขึ้น จึงตัดสินใจยื่นพอร์ตคณะนี้
หลักสูตร 4 ปี เรียนอะไรบ้าง?
นางสาวนิยดา ยันตะพันธ์ กล่าวว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์เรียนทั้งหมด 4 ปี ตอนปี 1 จะเรียนวิชาพื้นฐานของคณะที่จะวางรากฐานทักษะสำคัญติดตัวเราไปตลอดการเรียนที่คณะ
เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 จะเป็นการเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช่แค่เพื่อนในคณะ แต่เป็นองค์กรและชุมชนภายนอก ในชั้นปีนี้จะได้ลงพื้นที่ไปทำงานสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมร่วมกับชุมชนผ่านประสบการณ์จริง
จากนั้นในชั้นปีที่ 3 จะได้กลับมาทำงานกับตัวเองด้วยการเลือกเรียนรายวิชามุ่งเน้น หรือว่า track ที่เราสนใจ ประกอบด้วย การเรียนรู้และวิธีการสอน การอำนวยการเรียนรู้ และนวัตกรรมการเรียนรู้
- การเรียนรู้และวิธีการสอน จะเรียนรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ผู้เรียน หลักสูตร และรูปแบบวิธีการสอน การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และแผนการสอน จิตวิทยาการสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
- การอำนวยการเรียนรู้ หรือเรียกกันว่า Facilitation จะเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและกระบวนการในออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย เป็น Activity based learning
- นวัตกรรมการเรียนรู้ จะมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีและสื่อในการสนับสนุนการเรียนรู้ track นี้จะเห็นเด่นๆ เลย คือ "การออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ และสื่อมัลติมีเดียต่างๆ"
นอกจากนี้ ยังมีฝึกงานช่วงปิดเทอม summer ปี 3 ที่สามารถเลือกฝึกงานในองค์กรหรือตำแหน่งเราสามารถตามที่สนใจ ส่วนในชั้นปีที่ 4 จะเป็นปีที่ได้ใช้เวลาทุ่มเทกับการทำ Creative Project หรือปริญญานิพนธ์ของตัวเอง ซึ่งโปรเจกต์จะมีความหลากหลายมาก ตามความสนใจของนักศึกษาแต่ละคน
ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เป็นจุดเด่นของคณะ
นางสาวนิยดา ยันตะพันธ์ กล่าวว่า คณะเราเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์มากๆ การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การเล่นเกม การปฏิบัติจริง ที่สอดแทรกเนื้อหาอันหนักแน่นเอาไว้ ที่นี่เรียนรู้กันสนุกๆ ภายใต้รูปแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทุกคนมีโอกาสได้คิด แสดงความคิดเห็น และเป็นตัวของตัวเองทั้งในการเรียนและการทำกิจกรรม ที่นี่เรามีความแตกต่างหลากหลายแต่เราก็เคารพซึ่งกันและกัน บ่อยครั้งการ Discussion ทำให้เกิดความเห็นที่ทั้งเหมือนและแตกต่าง แต่สุดท้ายเราจะได้ค้นพบแก่นร่วมทางความคิด หรือหลักการของประเด็นนั้นๆ
ที่นี่ทำให้เราเห็นการบ่มเพาะ ประกอบสร้าง และส่งต่อสิ่งที่เป็นอำนาจแฝงในระดับบุคคล สังคม โครงสร้างที่ส่งผลให้เราคิดและได้คำตอบแบบนั้นออกมา เราได้เห็นเบื้องลึกเบื้องหลังกลไกการทำงานของอำนาจจากการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเราในทุกๆ วัน ทั้งนี้ยังรวมไปถึงชวนมองเห็นประเด็นต่างๆ ที่เราอาจจะเคยมองผ่านมุมมองเดียว แต่คณะจะพามองไปถึงมุมมองอื่นเพิ่มเติมผ่านหลายศาสตร์ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ เพศ ช่วงวัย ยุคสมัย เป็นต้น
กิจกรรมเพียบ ทำให้การสอบไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
นางสาวนิยดา ยันตะพันธ์ กล่าวว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เป็นคณะที่มีกิจกรรมเยอะมากตลอดปีการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยนักศึกษา บุคลากร หรือคณาจารย์ ด้วยเพราะเรามีช่วงสอบที่สั้นมากๆ หรือบางชั้นปีก็ไม่มีสอบ อีกทั้งรูปแบบการสอบของเรายังมีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่การกากบาทหรือเขียนคำตอบอย่างเดียว แต่เรามี oral test, group discussion, การทำ project, การจัดกระบวนการ และอื่นๆ ที่อาจารย์จะสรรหามาใช้ในการประเมินเรา ทำให้เราสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในคณะได้ตลอดปีการศึกษา ทั้งกิจกรรมนันทนาการ การอบรม สัมมนา นิทรรศการ ค่าย เรียกได้ว่าอยากทำอะไรก็ได้ทำ เพราะคณะเราสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ
แต่กิจกรรมที่ถือว่าเป็น signature ของคณะเลยก็คือการลงชุมชนตอนชั้นปีที่ 2 ที่เราจะได้ไปใช้ชีวิตและเรียนรู้ร่วมกับคนในชุมชนจริงๆ ตลอดสัปดาห์ เป็นการเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชนผ่านประสบการณ์จริง เป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้เรียนรู้และเติบโตอย่างมาก
เรียนจบแล้วสามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง
นางสาวนิยดา ยันตะพันธ์ กล่าวว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มีความหลากหลายในการประกอบอาชีพมาก เพราะว่าสิ่งที่เรียนรู้มาจากคณะเป็น competency สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการทำงานที่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เราเห็นจะเป็นกระบวนการ (Learning designer), ผู้ประสานงาน (Project coordinator), HR หรือทำงานเกี่ยวกับด้านการศึกษา
คำแนะนำจากรุ่นพี่
นางสาวนิยดา ยันตะพันธ์ กล่าวว่า กล่าวว่า หากสนใจสามารถมาลองเรียนรู้ หรือทำความรู้จักกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ได้ผ่านการเข้าร่วมงาน Open house ของมหาวิทยาลัย หรือถ้าไม่อยากรองาน Open house คณะเราเปิด workshop ให้ผู้ที่สนใจมาทำกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ
สามารถติดตามได้ที่ เฟซบุ๊ก: Faculty of Learning Science and Education หรือ IG: LSEd_official เรามี workshop งานเสวนา สัมมนาต่างๆ สามารถเลือกได้ตามความสนใจ
ส่วนใครที่อยากเข้ามาเป็นชาว LSEd ด้วยกัน การรับเข้าในแต่ปีคณะเราเปิดรับทั้งหมด 70-75 คนโดยประมาณ รอบที่รับมากที่สุดคือ Portfolio รอบนี้รับมากถึง 65 คน ซึ่งหลักๆ ของการเตรียมตัวสำหรับรอบ Portfolio แนะนำว่า งานเขียนที่เป็นโจทย์เรียงความแต่ละปีตามที่อาจารย์กำหนด เกี่ยวกับความเป็นตัวเอง ทั้งทัศนคติ แนวคิด ที่ต้องการจะสื่อสารออกมา ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ส่วนการสัมภาษณ์จะเป็นรูปแบบการสัมภาษณ์ที่ต่างจากที่อื่น แต่อาจารย์ใจดีทำให้บรรยากาศการสัมภาษณ์ออกมาสบายๆ ไม่ได้รู้สึกกดดัน
"นอกจากเนื้อหาหลักสูตรที่น่าสนใจ ยังมีนิเวศที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และเพื่อนๆ ในคณะร่วมกันสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ไปด้วยกัน ถ้าใครสนใจศาสตร์ด้านการเรียนรู้ อยากหาคำตอบว่ามนุษย์เรียนรู้ได้อย่างไร มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ แล้วเราจะออกแบบการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้แบบไหนบ้าง สามารถมาเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ร่วมกันได้ที่ LSEd นะ"
การรับสมัคร ในระบบ TCAS67
รอบที่ 2 Quota
สำหรับน้องๆ ที่สนใจคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ จะเปิดรับสมัครในรอบที่ 2 Quota ในช่วงวันที่ 1-18 มีนาคม 2567 โดยมีรายละเอียดดังนี้
- โครงการนักศึกษาผู้มีความสามารถดีเด่นทางการกีฬา รับจำนวน 2 คน
- โครงการรับนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับจำนวน 1 คน
- โครงการรับนักเรียนพลเมืองจิตอาสา รับจำนวน 2 คน
- โครงการส่งเสริมนักเรียนเรียนดีภาคกลาง รับจำนวน 1 คน
- โครงการรับนักศึกษาพิการ รับจำนวน 1 คน
รอบที่ 3 Admission
นอกจากนี้ในรอบที่ 3 Admission ในช่วงวันที่ 6-12 พฤษภาคม 2567 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ยังเปิดรับสมัคร จำนวน 5 คน
ในส่วนของรอบที่ 4 ยังไม่มีประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการ (ข้อมูลวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567)
น้องๆ คนไหนที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tuadmissions.in.th หรือ คลิกที่นี่