ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ผลของการบริโภคนมวัวต่อสุขภาพเด็ก" ชี้เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ควรส่งเสริมให้เด็กบริโภค

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือชี้แจง เรื่องการบริโภคนมวัวกับสุขภาพเด็ก โดยระบุว่า สืบเนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการผลิตชุดข้อมูลข่าวสาร เพื่อสื่อสารในช่องทางต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง "นมวัว ทำลายสุขภาพ" กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย

ทางราชวิทยาสัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ผลของการบริโภคนมวัวต่อสุขภาพเด็ก" โดยมีพื้นฐานอยู่บนผลการศึกษาเชิงประจักษ์และหลักฐานทางการแพทย์ที่มีในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

1. เคซีนในนมวัวกับการย่อยของร่างกาย เคซีนเป็นโปรตีนหลักที่พบในน้ำนมวัว ทำหน้าที่จับกับแคลเซียมและฟอสเฟตแขวนลอยอยู่ในน้ำ ทำให้น้ำนมมีลักษณะสีขาวขุ่น ในเด็กปกติที่ไม่ได้มีปัญหาการย่อยอาหารบกพร่อง ก็จะไม่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องจากการบริโภคนมวัว

2. สารตกค้างในนมวัว มีการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียน ทั้งทางด้านโภชนาการและจุลินทรีย์ ตามรายเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 ว่า ร้อยละ 97 มีคุณภาพผ่านมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 350 (พ.ศ. 2556) ในปี พ.ศ. 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรซ์และยูเอชที ไม่พบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และยาต้านจุลชีพตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ

...

3. นมวัวกับภาวะกระดูกพรุน นมวัวเป็นแหล่งสำคัญของโปรตีนคุณภาพ แคลเซียม และฟอสฟอรัสที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง มีการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่ากลุ่มเด็กที่บริโภคนม มีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นทั้งร่างกายประมาณร้อยละ 3 เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคนม

นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับฮอร์โมน ที่ช่วยกระตุ้นการเติบโต เช่น Insulin-Like Growth Factor 1 (IGF-1) และ ลดการสลายกระดูก รวมถึงการบริโภคนมที่เสริมวิตามินดี จะสามารถเพิ่มระดับวิตามินดีได้เฉลี่ย 5 นาโนกรัม/มล. ซึ่งเทียบได้ประมาณหนึ่งในสี่ของระดับปกติในร่างกาย ทั้งนี้การที่เด็กได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอตามวัยตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น จะช่วยทำให้มวลกระดูกสูงสุดดีเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และป้องกันภาวะกระดูกบาง เมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและสูงอายุ

4. นมวัวกับโรคมะเร็ง นมวัวประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด ที่อาจมีผลในการกระตุ้นหรือยับยั้งการเกิดมะเร็ง เช่น แลคโตเฟอร์ริน วิตามินดี กรดไขมันสายสั้น กรดไขมันอิ่มตัว และ IGF-1 มีการทบทวนวรรณกรรม และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ พบว่ามีหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอ ที่สนับสนุนว่าการบริโภคนมช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ไม่มีหลักฐานว่าการบริโภคนมวัว ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น

5. นมวัวกับโรคออทิซึม ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่ ที่ยืนยันว่านมวัวมีส่วนทำให้เกิดโรคออทิซึม ในทางตรงกันข้าม การงดบริโภคนมวัวในเด็กที่เป็นโรคออทิซึมทำให้เกิดผลเสีย เพราะนมวัวเป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดอะมิโน-ทริปโตเฟน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเซโรโทนินในร่างกาย และออกฤทธิ์ในการควบคุมอารมณ์ ปรับพฤติกรรม และช่วยในการนอนหลับ

6. นมวัวกับโรคภูมิแพ้ ทารกและเด็กเล็กที่บริโภคนมวัว มีเพียงร้อยละ 1.7 จะเกิดโรคแพ้โปรตีนนมวัว ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองกับโปรตีนในนมวัว และมีอาการแสดงออกได้หลายระบบ อาทิ ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร

สำหรับข้อกังวลเรื่องการได้รับนมวัว แล้วทำให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้น องค์กรวิชาชีพทั่วโลกมีคำแนะนำว่า การจำกัดการบริโภคนมวัวในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ไม่ช่วยในการป้องกันโรคแพ้โปรตีนนมวัวในทารก รวมถึงการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมานล่าสุด ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ ระหว่างการที่เด็กได้รับนมวัวกับการเกิดโรคหอบหืด การหายใจลำบากมีเสียงหวีด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคแพ้โปรตีนนมวัว

ดังนั้น จากข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้สรุปมาข้างต้น ร่วมกับคุณค่าทางโภชนาการของนมวัว ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยที่นมปริมาตร 100 ซีซี ให้พลังงานทั้งหมด 64-67 กิโลแคลอรี โปรตีน 3.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.7 กรัม (ส่วนประกอบหลักเป็นน้ำตาลแลคโตส) และไขมัน 3.7 กรัม (กรดไขมันส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัว) มีแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม ซีลีเนียม วิตามินบี 2 วิตามินบี 12 และกรดแพนโททีนิกซึ่งถูกดูดซึมได้ดี

ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนบริโภคนมวัววันละ 3 แก้ว (แก้วละ 200 ซีซี) ส่วนเด็กวัยเรียนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ รวมถึงสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร แนะนำให้บริโภคนมวัววันละ 2-3 แก้ว.

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย