ม.หอการค้าไทย ทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท พัฒนาหลักสูตร AI เพื่อยกระดับคุณภาพและความสามารถของบัณฑิตไทยให้พร้อมสู่ตลาดแรงงาน
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชั้นนำด้านธุรกิจการค้าและการบริการ มุ่งเน้นการผลิตนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริม Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2564 นั้น ขณะนี้ ประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ซึ่งอุดมศึกษาได้รับผลกระทบโดยตรง
อีกทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษาแตกต่างไปจากเดิม รวมถึงการขยายตัวของดิจิทัล โดยเฉพาะ AI (ปัญญาประดิษฐ์) มหาวิทยาลัยจึงได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการเรียนการสอน การให้บริการแก่นักศึกษา ในการตั้งเป้าก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัย AI Integrated คือ ไม่เพียงแค่การเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ AI มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ ม.หอการค้าไทย ได้นำ AI มาบูรณาการในมิติการเรียนการสอนและการให้บริการของมหาวิทยาลัย หรือ AI - UTCC เพื่อยกระดับคุณภาพและความสามารถของบัณฑิตไทยให้พร้อมสู่ตลาดแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยให้ก้าวไปยืนอยู่ในตลาดระดับโลก
...
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จับมือ ไมโครซอฟท์ นำ AI มาใช้
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการศึกษาวิจัยและแผนในการปรับตัว เข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเอไอ หรือ AI - UTCC มา 3 ปี โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน หลักสูตร และการให้บริการแก่นักศึกษา โดยมีการนำ AI เข้ามาใช้ มีการจัดทำฐานข้อมูลใหม่ทั้งหมด และมีการจัดทำห้องสมาร์ทคลาสรูม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอน โดยใช้ AI อย่าง การจัดทำห้อง Hyflex Classroom (Smart Classroom) จำนวน 15 ห้อง และจะมีขยายไปให้ครบ 50 ห้อง เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบของ AI พร้อมทั้งมีการแจก iPad และแพลตฟอร์ม AI ที่นักศึกษาสามารถใช้ในการทำงาน และการเรียนรู้ได้อย่างเต็มรูปแบบ อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้ โปรแกรม Canva Pro มาพร้อมกับฟีเจอร์ AI (Magic Design) ที่ฟรีสำหรับนักศึกษาทุกคน และการฝึกฝนภาษาต่างๆ ผ่าน AI ผู้ช่วยสอน เพื่อให้การเรียนภาษากลายเป็นเรื่องสนุกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรม AI UTCC Engine AI ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมงานมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งนักศึกษาสามารถเตรียมความพร้อมในการสอบสัมภาษณ์และรับคำแนะนำจาก AI โดยระบบมีการจัดทำทรานสคริปต์แบบเรียลไทม์ นอกจากทรานสคริปต์ผลการเรียนแล้ว ยังมีการจัดทำ Skill Transcript และ Soft skill transcript เป็นทรานสคริปต์ที่บอกได้ว่านักศึกษามีทักษะด้านดิจิทัล หรือ Soft skill ด้านไหนบ้าง ซึ่งในปัจจุบันนักศึกษาสามารถใช้งานระบบ Soft Skill Transcript บางฟังก์ชั่นได้แล้ว และคาดว่าจะพัฒนาระบบเสร็จก่อนจะนำไปใช้ได้เต็มรูปแบบ ในเดือนสิงหาคม 2567 นี้ โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะได้ทรานสคริปต์ทั้ง 3 ประเภท เพื่อนำไปสมัครงาน และมี AI ที่จะช่วยนักศึกษาในการวางแผนอาชีพเสมือนเป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษา
ทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท พัฒนา AI
นายปรเมศ ส่งแสงเติม รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ลงทุนในการพัฒนาระบบ AI ต่างๆ กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัยเริ่มต้นให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการเรียนการสอนระบบ Hybrid Learning System ตั้งแต่ปี 2549 จนตอนนี้เป็นก้าวเริ่มต้นของการเป็น AI - UTCC และเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
ระบบ AI จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยสอนแก่คณาจารย์ และทำหน้าที่ตอบคำถาม เสมือนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่เด็ก รวมถึงนักศึกษาสามารถเรียนแบบไฮบริด และเข้าไปเรียนในระบบออนไลน์ย้อนหลังได้ เพราะต่อให้ห้องสมาร์ทคลาสรูม มีการติดตั้งกล้อง AI พร้อมการอัดวิดีโอเพื่อให้นักศึกษาที่อาจจะไม่สะดวกหรือมีธุระ ได้มีโอกาสได้เรียนเหมือนกับเพื่อน แต่ทั้งหมดนี้ก็จะคำนึงเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล คณาจารย์จะมีการแจ้งนักศึกษาทุกครั้ง และมีเฉพาะนักศึกษาในแต่ละคลาสเท่านั้นที่สามารถดูได้ และนำ AI มาใช้ในระบบรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ทำงานด้วยระบบ AI เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยให้นักศึกษาและผู้ปกครองได้อุ่นใจ
AI เป็นทักษะที่นักศึกษาทุกคณะต้องมี
ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลายคนมักจะเข้าใจว่า AI เป็นเรื่องของวิศวกรรมศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจริงๆ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในยุคดิจิทัล ที่ทุกภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น นักศึกษาทุกคณะ ทุกหลักสูตร ต้องมีทักษะ AI เพราะ AI จะกลายเป็นทักษะที่จำเป็นกับทุกสาขาวิชา เช่น นักการตลาด จำเป็นต้องอ่านข้อมูลเป็น ติดตามเทรนด์ได้ และรู้จักใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ทั้งในการสร้างภาพ สร้างสื่อในการนำเสนอขาย เด็กหัวการค้า ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงไม่ได้เป็นเพียงผู้ประกอบการ ทำธุรกิจเป็น แต่จะมีทักษะ AI ทักษะดิจิทัลที่สามารถทำงานได้จริง
ผมมีความเชื่อว่าเอไอมาแทนคนไม่ได้ 100% แต่ทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะด้าน AI เพื่อทำงานได้ อยู่รอดได้ในสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือด และคนที่ไม่มีทักษะด้านนี้จะเสียโอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่แทนที่จะกลัวและปิดกั้น AI แต่ต้องพัฒนาทักษะการใช้และพัฒนา AI ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ให้ AI เป็นผู้ช่วยยกระดับศักยภาพของมนุษย์ มากกว่าการให้ทำงานแทนโดยไม่มีความรู้ ถึงจะสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
โดยนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทุกคนจะมีทักษะในการคิด แก้ไขปัญหาด้วย AI ใช้ AI ในการทำงาน และสามารถสร้างสรรค์ AI เพื่อการได้เปรียบในการแข่งขันได้ และมหาวิทยาลัยจะไม่หยุดพัฒนา AI ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีนักวิจัยและมีศูนย์วิจัยด้าน AI โดยเฉพาะ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงพร้อมก้าวสู่ AI - UTCC ที่มีคุณภาพเทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ที่ทั้งมหาวิทยาลัย หลักสูตร การเรียนการสอน บุคลากร การบริหารจัดการทั้งหมดจะขับเคลื่อนด้วย AI
ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาได้ให้ความสำคัญในการพัฒนา สร้างความตระหนักรู้ และผลิตบุคลากรให้มีความรู้เกี่ยวกับ AI และดิจิทัลมากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งเรื่องของบุคลากรที่มีความรู้ AI และดิจิทัลที่ยังมีไม่มากพอ อีกทั้งการจะพัฒนาระบบ AI ได้ทั้งองค์กรนั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และการจัดทำระบบใหม่ทั้งหมดอาจมีความยุ่งยาก ดังนั้น หากภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนทั้งในส่วนของการผลิตและพัฒนา Upskill หรือ Reskill ให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการต่างๆ มีทักษะด้าน AI ก็จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้ และหน้าที่ของสถาบันการศึกษาเองก็ต้องปรับตัว ผลิตบัณฑิตให้มีทักษะด้านนี้ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
การใช้ Bot สอนเขียนโปรแกรม
ผศ.ดร.สิรินดา พละหาญ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นักศึกษาที่เพิ่งเริ่มเรียน Programming ต้องการการชี้แนะจากอาจารย์ ดังนั้นในแต่ละ Section ควรจะมีสัดส่วนของนักศึกษาและอาจารย์ที่ต่าง เพื่อที่นักศึกษาจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ แต่ด้วยเรื่องของข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถที่จะหาอาจารย์ รวมถึงผู้ช่วยสอนให้มีจำนวนที่มากพอได้ อาจจะทำให้มีนักศึกษาบางส่วนได้รับคำชี้แนะได้อย่างไม่เต็มที่ เลยลองหา Online courses ให้นักศึกษาไปเรียนเองดูบ้าง
เมื่อสำรวจว่ามี Online courses สอนเขียนโปรแกรมอะไรบ้างก็พบว่ามีมากมาย แต่ Online courses เหล่านั้นจะมีการให้ผู้เรียนส่งแบบฝึกหัดและมีการตรวจให้ แต่ว่าลักษณะการตรวจใช้แบบ Peer Review คือ การให้ผู้เรียนตรวจกันเอง ซึ่งฟีดแบ็กที่ได้รับจะมาจากผู้เรียนกันเอง ซึ่งเขาก็เพิ่งเริ่มเรียนเหมือนกัน อาจไม่มีคุณภาพเท่ากับฟีดแบ็กที่ได้รับจากอาจารย์
จากนั้นจึงพัฒนา Chat Bot ของเราเพื่อนักศึกษา และตั้งชื่อว่า PYTHONPAL เราพัฒนาสอนภาษา PYTHON ซึ่งเป็นภาษาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มเรียน Programming ในครั้งแรก แฟลตฟอร์มที่ใช้ก็จะเป็น Line เพียงแค่เพิ่มเพื่อนกับ PYTHONPAL ก็สามารถใช้ Chat Bot ได้แล้ว
ลักษณะของการแชตจะออกแบบให้เหมือนนักศึกษาสนทนากับคนจริงๆ ภาษาจะไม่เป็นทางการมาก โดยจุดเด่นของ Chat Bot นอกจากจะมีลักษณะการพูดคุยที่เป็นธรรมชาติแล้ว ยังมีการให้ฟีดแบ็กกับนักศึกษาแบบเรียลไทม์ด้วย มีการสอนการเขียนโปรแกรม มีการให้โจทย์ และให้ฟีดแบ็กแบบเรียลไทม์ ประมาณ 4.5 วินาที ได้รับฟีดแบ็กทันที ซึ่งในส่วนนี้เป็นข้อได้เปรียบกว่าการส่งการบ้านในชั้นเรียน อีกทั้งฟีดแบ็กที่ได้รับกลับไปก็เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เต็มไปด้วยคำศัพท์ทางเทคนิค เพื่อให้นักศึกษารู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมไม่ได้ยากจนเกินไป
นอกจากนี้ ยังมีการให้นักศึกษาที่สร้าง Chat Bot ในการฝึกฝนทักษะทางภาษาอังกฤษ มาร่วมสนทนาถึงการพัฒนา Chat Bot ที่สร้างจาก AI อีกด้วย โดยสร้างให้เป็นบาริสต้าที่อยู่ในร้านกาแฟ มีบุคลิกที่อบอุ่น มีความเป็นกันเอง จะทำให้นักศึกษาอยากเข้าไปพูดคุยและฝึกภาษาด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไม่เพียงแต่จะช่วยสอนการเขียนโปรแกรม หรือสอนภาษาเท่านั้น แต่ AI ยังสามารถสอนทักษะอื่นๆ ได้อีกมากมาย อาทิ สอนวิชาปัญญาประดิษฐ์ สอนวิชาคณิตศาสตร์ ช่วยฝึกฝนสัมภาษณ์งาน ให้คำปรึกษาด้านการเรียน หรือฝึกทักษะในด้านการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นอีกด้วย.