ชาวประมงฮือฮา "กั้งหางแดง" หรือ "แม่หอบอ่อน" ขึ้นมาลอยเกลื่อนทะเลบางแสน รีบไปช้อนมาขาย ด้านนักวิชาการเผย ปกติจะอยู่ในรู ไม่ขึ้นมาอยู่ในน้ำ ยันกินได้ ไม่มีพิษ พร้อมเร่งหาสาเหตุต่อไป

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานว่า จากกรณีที่มีเฟซบุ๊ก Suwanan Saehueng ได้โพสต์ข้อความว่า "กุ้งต๊อกหรือกั้งต๊อก หลาย 10 ปี เพิ่งเคยเจอใครอยากได้มาช้อนเอาเลย" พร้อมกับคลิปวิดีโอที่ชาวประมงกำลังใช้สวิงช้อนกั้งหางแดงหรือแม่หอบอ่อน อย่างคึกคักที่กำลังมาลอยตัวบนผิวน้ำจำนวนมากจนมีชาวเน็ตแห่ถามถึงจุดที่พบกั้งหางแดงดังกล่าว

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบริเวณชายหาดทะเลบางแสนช่วงจุดชมวิวแหลมแท่น เขตเทศบาลตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ได้พบกับกลุ่มชาวประมง กำลังใช้สวิงตักกั้งหางแดง หรือแม่หอบอ่อน อยู่ริมทะเลตามโขดหินซึ่งพบว่าเต็ม 2 กะละมังใหญ่ จำนวนหลายสิบกิโลกรัม

...

จากการสอบถาม นางสาวสุวนันท์ แซ่ฮึง อายุ 25 ปี เจ้าของโพสต์และเป็นลูกสาวของชาวประมง เล่าว่า ตนได้ส่งรูปไปสอบถามข้อมูลยังเพจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ได้คำตอบว่าสัตว์ชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า "กั้งหางแดง" หรือ "แม่หอบอ่อน" เป็นสัตว์ตระกูลกุ้งและกั้งหากินได้ยากเพราะอยู่ในรูในทะเลจะไม่ค่อยเจอตัวแต่สาเหตุที่กั้งหางแดงออกมาลอยเหนือน้ำเป็นเพราะปรากฏการณ์ทางทะเล คาดว่าเพราะพื้นทะเลร้อนระอุทำให้กั้งหางแดงออกจากรูมาลอยเหนือน้ำ

ทางด้านนางสาวพรวิไล สาครรัตน์ อายุ 35 ปี เปิดเผยว่าตนไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อนตอนนี้ 35 ปีแล้วเพิ่งจะเคยเห็น ซึ่งชาวประมงจะเรียกว่า กั้งหางแดง และหายากมากและก็จะมีราคาตอนนี้ได้ขายเป็นตัวในราคาตัวละ 2 บาท ส่วนใหญ่คนจะนิยมไปตกปลา และเอาไปชุบแป้งทอด เพราะกั้งหางแดงมีไข่เต็มท้องก็จะมีรสชาติที่อร่อยติดมัน

ทางด้านนายสังข์ ชูศรี อายุ 65 ปี ชาวประมงในพื้นที่ ได้เล่าว่าตนเป็นชาวประมงมากว่า 60 ปีแล้วตนก็ไม่เคยพบเห็นกั้งหางแดงมาลอยเหนือผิวน้ำแบบนี้มาก่อนเพราะสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันกับกุ้ง และกั้งแต่จะตัวเล็กกว่า และมีไข่เต็มท้อง ปกติถ้าออกเรือหาปลาหรือลากอวน ก็จะเจอครั้งละไม่ถึง 10 ตัวถือว่าหากินยากแต่พอเกิดปรากฏการณ์ทางทะเลทำให้กั้งหางแดงออกจากรูลอยเหนือทะเลจนก็พบเห็นเป็นครั้งแรกเหมือนกันและสัตว์ชนิดนี้กินได้และอร่อยแต่ส่วนใหญ่จะหากินยากครั้งนี้เป็นครั้งแรกในทะเลบางแสนชลบุรีที่พบกั้งหางแดงขึ้นมาปรากฏตัวบนผิวน้ำให้เห็น

ทั้งนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถาม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า ในคลิปคือ "แม่หอบอ่อน" เป็นสัตว์มีเปลือกกลุ่มกุ้งปู เป็นญาติของแม่หอบที่อยู่ในป่าชายเลน แต่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน

คนแถวนั้นเรียก "กั้งหางแดง" หรือชื่ออื่นๆ แต่ไม่ใช่กั้ง เป็นสัตว์กลุ่มแม่หอบ ซึ่งแม่หอบอ่อน แม่หอบทราย (ghost shrimp) อยู่ใน Fam. Callianassidae, Infraorder Axiidea เป็นเครือญาติห่างๆ กับแม่หอบที่สร้างจอมหอบ (Mangrove lobster, Mud lobster) อยู่ใน Fam Thalassinidae, Infraorder Gebiidea

"แม่หอบอ่อน" เรียกเช่นนี้เพราะตัวอ่อนนุ่ม ในเมืองไทยมีรายงานประมาณ 20 ชนิด แม่หอบอ่อนมักฝังตัวอยู่ตามพื้นทราย/พื้นเลน อยู่ในรู กินสัตว์เล็ก และซากต่างๆ เหมือนกุ้งทั่วไป

ปกติจะไม่ขึ้นมาอยู่ในน้ำ และต่อให้ขึ้นมา ก็ไม่เข้ามารวมกันเยอะขนาดนี้ อาจมีปัจจัยบางประการที่ทำให้แม่หอบอ่อนไม่อยู่ในรู แต่หนีออกมาอยู่ในมวลน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำร้อนจัด น้ำเสีย ฯลฯ ที่ไม่สามารถตอบได้

ในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน จะไปจับตามรู นำมาทอด ในเมืองไทยอาจเป็นอาหารประจำถิ่นเฉพาะพื้นที่ สามารถกินได้ ไม่มีพิษ แต่สาเหตุที่ออกมาอยู่ในน้ำจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป.