เปิดนโยบายเด่นของ 3 แคนดิเดต ชิงเก้าอี้อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2567 เสนอชื่อ 22 ก.พ. 2567 

วันที่ 20 ก.พ. 2567 มีรายงานว่า อีกไม่กี่วันก็จะถึงการเสนอชื่ออธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2567 ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ โดยในครั้งนี้มีแคนดิเดต 3 ราย ได้แก่ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ, ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสามารถสรุปนโยบายของแต่ละคนได้ ดังนี้

สำหรับ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้เปิดเผยแนวคิด Thammasat Next หรือ Thammasat for Better Life..Better Society แนวทางสร้างสรรค์ ชีวิตทำงาน เพื่อประชาคม ผ่านเฟซบุ๊ก Pipop Udorn โดยมี 4 หัวข้อหลัก คือ

1. ระบบงาน "ยืดหยุ่น" และ "สมาร์ท"

  • เลิกใช้ไม้บรรทัดเดียววัดทุกหน่วยงาน
  • Work From Anywhere
  • ใช้ AI ช่วยลดปริมาณงาน และเพิ่มคุณภาพงาน

2. เส้นทางอาชีพเลือกได้

  • เลือกเติบโตได้ตามสานบริการ หรือ วิชาชีพ
  • สร้างทักษะรองรับอาชีพที่ 2
  • เรียนต่อ ป.โท ฟรี ในแพลตฟอร์ม "TUXSA"

3. คุณภาพชีวิตดีขึ้น

  • สวัสดิการยืดหยุ่นทั้งวงเงิน และวงเวลา
  • ดูแลตั้งแต่แรกเข้าถึงหลังเกษียณ
  • สวัสดิการบุคลากร ชัดเจน และ เท่าเทียม

4. คุณภาพชีวิตดีขึ้นอีก

...

  • จัดสิทธิพิเศษและส่วนลดค่ารักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
  • เพิ่มจำนวนหอพักบุคลากร
  • โรงอาหาร คือ สวัสดิการ ร้านค้าไม่เสียค่าเช่า ปรับราคาให้ถูกลงและเพิ่มคุณภาพ

ด้าน ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ได้เปิด เพื่อทำให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในใจคน ได้แก่

1. มหาวิทยาลัยของคนไทยทุกช่วงวัย

2. ดูแลคุณภาพชีวิตนักศึกษาครบวงจร

3. บัณฑิตธรรมศาสตร์มีงานทำ 100% 

4. Flagship Super Premium 

5. ธรรมศาสตร์ในฐานะศูนย์กลาง AI Initiative

6. ลดภาระงาน คืนชีวิตให้อาจารย์ธรรมศาสตร์

7. รับอาจารย์ใหม่ ไม่ต้องจบ ป.เอก พร้อมเพิ่มทุน ป.เอก ให้อาจารย์ใหม่

8. เพิ่มแหล่งเงินวิจัยให้อาจารย์

9. Social Asks | TU Acts มหาวิทยาลัยที่มีคำตอบให้กับสังคม 

10. ประกันบำนาญ สวัสดิการต้องมั่นคง 

11. เพิ่มสิทธิพิเศษและส่วนลดในบัตรพนักงาน

12. รื้อกระบวนงาน ลดภาระคนทำงาน พร้อมแก้ไขระเบียบให้ทันสมัย ใช้งานได้จริง

13. ทำงานได้ทุกที่ปรับวันทำงาน

14. ปรับปรุงภูมิทัศน์ทุก Campus

15. One TU Mindset

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนากายภาพ ใน 4 ศูนย์เรียนรู้ ที่ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ - Supasawad Chardchawarn ระบุว่า หนึ่งในหลักที่ผมยึดมาตลอดคือ Pain Points อยู่ที่หน้างาน อยู่ที่การสะท้อนความเห็นจากผู้ใช้งานจริง ไปดูก็จะรู้ ไปถามก็จะได้ยิน ไปเดินดูรอบตึก SC ก็จะเห็นว่า วันนี้มีความทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จำเป็นต้องรีโนเวทให้ดีขึ้น

ในเรื่องการพัฒนาและปรับปรุงด้านกายภาพ เป็นงานที่ต้องอาศัยการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพราะมีเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ทั้งการออกแบบ การขออนุมัติ อนุญาต และงบประมาณ ซึ่งมีรอบการเสนอของบที่เราต้องวางแผนและทำให้ทัน

4 โปรเจกต์ที่ผมได้ไปดูพื้นที่จริง และตั้งใจจะลุยแน่นอนที่ธรรมศาสตร์ รังสิต คือ

  • พลิกโฉมตึก SC รีโนเวทห้องเรียน และตึกให้ทันสมัย
  • สร้างอาคารจอดรถฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะในฝั่งสุขศาสตร์
  • สร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการรวมสุขศาสตร์ 2
  • ปรับปรุงโรงอาหาร ทั้งในเรื่องราคา ความหลากหลาย และภูมิทัศน์โดยรอบ

จากการประชาคมร่วมกับนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ในศูนย์เรียนรู้ต่างๆ สามารถสรุปได้ถึงแผนพัฒนากายภาพในทั้ง 4 แคมปัส ดังนี้ครับ

ในภาพรวมของทุกแคมปัส

- นำหลักการ Universal Design มาทำอย่างจริงจัง เพื่อให้นักศึกษาทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนการสอน การให้บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกของมหาวิทยาลัย

- ต้องมีการรวบรวมข้อมูล และพัฒนาผังระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบไฟฟ้า สายไฟใต้ดิน สายไฟเบอร์ ท่อน้ำประปา ท่อระบายน้ำ ต้องมีข้อมูลโดยละเอียดว่าสภาพของระบบต่างๆ ในขณะนี้เป็นอย่างไร เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ วางแผนปรับเปลี่ยน ให้ดำเนินการซ่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- ดำเนินยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Smart University) ด้วยการยกระดับระบบเทคโนโลยี เช่น นำระบบ AI มาช่วยในการจัดการจราจร ลานจอดรถ (traffic & parking management), พัฒนาระบบความปลอดภัย และระบบแจ้งเหตุ เพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับประชาคม (Integrate security system - CCTV, Command center)

- มีการจัดสร้างอาคารจอดรถไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับประชาคม
-ให้บริการโรงอาหารราคาถูกแก่นักศึกษาและบุคลากร บริการอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัยและสะดวก
- สำรวจและเปลี่ยนระบบปรับอากาศ และอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน รวมถึงระบบการบริหารจัดการห้องเรียน
- ปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาให้สะอาดได้มาตรฐาน มีสุขอนามัยที่ดี
- ปรับปรุงหอพักนักศึกษา บุคลากร ให้อยู่ในสภาพดี ได้มาตรฐาน มีราคาที่เหมาะสม
- ปรับปรุงระบบการเดินทาง ระบบขนส่งมวลชนภายในแคมปัสต่างๆ
- การแก้ไข PM 2.5 ในทุกศูนย์เรียนรู้

ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทีมของผมได้สรุปนโยบายการพัฒนาท่าพระจันทร์มาไว้ 3 คำ คือ Smart, Secured, and Beautiful Campus

  • Smart คือ อาคารสวยงาม ทันสมัย (Smart Building),ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจอดรถ (Smart Parking),
  • Secured คือ การรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ประตูทางเข้า จนถึงในอาคารเรียนต่างๆ (Controlled Access Building & Smart Security), การเพิ่มกล้องวงจรปิด (more CCTV Survilanace)
  • Beautiful คือเป็นแคมปัสที่สวยงาม ส่งเสริมความยั่งยืน มีการปรับปรุง มีการออกแบบสิ่งก่อสร้างที่ทันสมัย ขณะเดียวกันก็มีการอนุรักษ์ที่แข็งแรง มีการชูจุดเด่นในทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกับชุมชนภายนอก

ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

  • พัฒนาไปสู่การเป็นต้นแบบของ Green Campus ในระดับสากล
  • ลุยแก้ไขปัญหาที่เรื้อรัง โดยเฉพาะปัญหาการจราจร น้ำท่วมขัง สถานที่จอดรถสำหรับบุคลากร ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการในอาคารต่างๆ
  • ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนภายในศูนย์รังสิต พร้อมพัฒนาโครงข่ายการขนส่งภายในเพื่อให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่กำลังจะเปิดใช้งานในอนาคต
  • สร้างความเป็น International Campus ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยสร้างพื้นที่สันทนาการ (work space) ที่หลากหลาย เช่น co-working space และ camp studio ที่แตกต่างจากการนั่งในห้องสมุด และนักศึกษามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานที่ (self-regulation) เพื่อให้การนั่งเรียนการทำงานและสันทนาการสอดคล้องกับหลักการ Play-Work from anywhere


ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

  • Learning-Ready Facilities ปรับปรุงอาคารเรียน ระบบปรับอากาศ ระบบโสตทัศนูปกรณ์ในห้องเรียน และ ระบบ wifi ให้เพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบันและรองรับการขยายตัวของหลักสูตรและกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ
  • TULP Sport & Recreation Center ปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์และสนามกีฬาในร่ม สำหรับการทำกิจกรรมและการพักผ่อนหย่อนใจของนักศึกษา
  • Bright Light Campus ไฟส่องสว่างครอบคลุมทุกพื้นที่ของศูนย์ลำปางเพื่อความปลอดภัยของทุกคน
  • เพิ่มพื้นที่ Learning Space ปรับปรุงอาคารนวัตกรรมบริการให้เป็น Smart classroom และ Reading room ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • พัฒนาศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Center) โดยมีพื้นที่จัดแสดงและสาธิตการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงพัฒนาพื้นที่ Workshop และ Co-Working Space เพื่อการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป
  • จัดสรรพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของการบริการวิชาการและคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ของภาคเหนือ (The Northern Hub of Applied Thai Traditional Medicine)

ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

3 เรื่องที่ผมคิดว่าต้องเร่งให้สำเร็จคือ

  • การใช้ศักยภาพจากอาคารเรียนที่ทันสมัย พิจารณาถึงการส่งเสริมการจัดกิจกรรรมต่างๆ ทั้งของมหาวิทยาลัยและองค์กรภายนอก
  • การเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (EECMd-Medical Hub) และ การสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พัทยา (Digital Hospital)
  • การยกระดับคุณภาพชีวิตด้านกายภาพและระบบขนส่งมวลชนเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากศูนย์พัทยา เข้าสู่ตัวเมือง


ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยแนวคิด Welfare Principles 5 หลักการสวัสดิการ เพื่อประชาคมธรรมศาสตร์ ผ่านเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul

โดยระบุว่า จากการสนทนาประชาคมกับคณะ หน่วยงาน และนักศึกษา สิ่งที่ชาวธรรมศาสตร์เห็นว่าเป็นปัญหามากที่สุดในเรื่อง #สวัสดิการและคุณภาพชีวิต คือ เมื่อธรรมศาสตร์ออกนอกระบบราชการแล้ว สวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรมีน้อยลงโดยเฉพาะหลังเกษียณ ในทางกลับกันค่าครองชีพในมหาวิทยาลัยสูงขึ้น จากการที่มหาวิทยาลัยต้องหารายได้ให้มากขึ้น

เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน ผมขอเสนอหลักการ 5 ประการ ในการทำให้บุคลากรและนักศึกษามีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีขึ้น ดังต่อไปนี้

1. ลดค่าครองชีพในมหาวิทยาลัย
ไม่ทำกำไรจากการเก็บค่าเช่าที่ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม และบริการต่างๆ โดยเก็บเพียงค่าสาธารณูปโภค เพราะการเก็บค่าที่ร้านค้าเท่ากับเก็บจากนักศึกษาและบุคลากร รวมถึงไม่ให้แสวงกำไรจากเรื่องที่มหาวิทยาลัยทำเองด้วย ได้แก่ หอพัก โรงอาหาร กีฬา และบริการอื่นๆ

2. เพิ่มรายได้ให้บุคลากรและหารายได้ให้นักศึกษา
ส่งเสริมให้ถือหุ้นหรือลงทุนในกิจการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความยั่งยืน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชุมชน และ Social Enterprise รวมถึงการให้มีกิจการแบบ workers own enterprise คือให้คนทำงานเป็นเจ้าของ

3. สร้าง Thammasat Welfare จัดระบบสวัสดิการ การประกันสังคม และการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ สำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ รวมถึงสวัสดิการที่เหมาะสมหลังเกษียณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นโรงพยาบาลของประชาชนและของประชาคมธรรมศาสตร์ไปพร้อมกันโดยไม่เพิ่มภาระให้บุคลากรโรงพยาบาล

กองทุนค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต้องจ่ายทุกเทอม ต้องใช้เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาโดยตรงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ กิจกรรม และการเรียนรู้ของนักศึกษา ไม่ให้ใช้ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งงบประมาณประจำปีได้

การสนับสนุนบุคลากรในเรื่องวิถีชีวิตแบบยั่งยืน โดยให้สำนักงานบริหารทรัพย์สินมีบริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน ซื้อหรือเช่ารถไฟฟ้า โดยผ่อนจากเงินเดือนในบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์

4. ประกาศแผนมาตรฐานคุณภาพชีวิตของทุกศูนย์การศึกษา
การสร้างมาตรฐานการบริการพื้นฐาน โรงอาหาร หอพัก ห้องเรียน อินเทอร์เน็ต การเดินทาง การรักษาพยาบาล และสวัสดิภาพความปลอดภ้ย ที่ทุกศูนย์การศึกษาต้องทำให้ได้มาตรฐานนี้ โดยใช้รูปแบบที่หลากหลายตามความแตกต่างของแต่ละศูนย์การศึกษา ส่วนกลางมีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ และประชาคมธรรมศาสตร์มีส่วนร่วมในการติดตาม

5. ให้สภาอาจารย์ สภาพนักงาน และสภานักศึกษา มีบทบาทในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาคมธรรมศาสตร์ สภาอาจารย์ สภาพนักงาน และสภานักศึกษาของ มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทอย่างแท้จริงในการรับฟังปัญหาจากอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และการติดตามตรวจสอบการแก้ปัญหาของอธิการบดี พร้อมกับใช้เทคโนโลยีให้ทุกคนมีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มเดียวกัน เช่น traffy fondue และการสร้างแพลตฟอร์ม Thammasat Community หรือ "ประชาคมธรรมศาสตร์" ของธรรมศาสตร์เอง

ทั้ง 5 ประการนี้มิใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาเรื่องสวัสดิการเรื่องใดเรื่องหนึ่งของชาวธรรมศาสตร์ แต่คือการวางหลักการสวัสดิการ พร้อมกับกระบวนการและเครื่องมือในการทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิการของบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการปฏิบัติให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริงครับ

นอกจากนี้ยังมีแนวคิด Thammasat Sustainability Goals เป้าหมายความยั่งยืน เพื่อธรรมศาสตร์จะกลับมาเป็นผู้นำมหาวิทยาลัยยั่งยืน

หลังจากที่ผมได้ "สนทนาประชาคม" กับคณะต่างๆ ไปแล้ว 21 คณะ และ 14 หน่วยงานในช่วง 2 สัปดาห์กว่าที่ผ่านมา ผมขอเสนอ แผนเป้าหมายความยั่งยืนของธรรมศาสตร์ หรือ Sustainability Goals โดยนำแผน Thammasat Smart City ที่เคยได้รางวัลจากกระทรวงพลังงานในเรื่อง Net Zero และ Zero Waste โดยเพิ่มเป้าหมาย สุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดี และ #การขจัดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ในมหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้

1. Net Zero (SDG 7 และ 13) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 50% ภายใน 3 ปี และตั้งเป้าหมายผลรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 25% ในปี 2577 ซึ่งเป็นวาระที่ธรรมศาสตร์ครบ 100 ปี

2. Zero Waste (SDG 12) ลดปริมาณขยะที่ส่งออกไปฝังกลบข้างนอก ทุกศูนย์การศึกษาให้เหลือ 50% ภายใน 3 ปี และเป็นศูนย์ภายในปี 2577 ที่ธรรมศาสตร์ครบ 100 ปี

3. Good health & well-being (SDG 3) นอกจากเป้าหมายเดิมในเรื่อง Net Zero และ Zero Waste ธรรมศาสตร์ต้องมีเป้าหมายใหม่คือ มหาวิทยาลัยสุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดี บุคลากรสุขภาพดีขึ้น อาหารปลอดภัย โดยวัดผลด้วยจำนวนบุคลากรและนักศึกษาป่วยด้วยโรคไม่มีเชื้อโรค (NCDs) ซึ่งได้แก่ เบาหวาน ความดัน หลอดเลือด หัวใจ มะเร็ง ลดลง 50% อาหารปลอดภัยไร้สารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น 50% และชาวธรรมศาสตร์มีความสุขมากขึ้น แบบวัดผลได้ 50% ภายใน 3 ปี

4. ขจัดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) และความไม่เป็นธรรม (SDG 16) ในมหาวิทยาลัยภายใน 3 ปี ทั้งในเรื่องการทำงาน สภาพการจ้าง ค่าตอบแทน การขึ้นเงินเดือน การต่อสัญญา ตำแหน่งวิชาการ โดยดำเนินการเร่งด่วนให้เสร็จใน 6 เดือนในเรื่องตำแหน่งชำนาญการของเจ้าหน้าที่ที่ต้องอัปเดตทุก 3 ปี และพนักงานเงินรายได้ชั่วคราวที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน

เป้าหมายทั้ง 4 ประการสามารถทำให้สำเร็จและเห็นผล 50% ได้ภายใน 3 ปี ทั้งนี้โดยใช้หลักการทำงานอย่างฉลาด และทำน้อยได้มาก โดยให้คณะที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ตามเป้าหมายทั้ง 4 ข้อเป็นผู้นำ และร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นผู้นำมหาวิทยาลัยยั่งยืนอีกครั้งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และเป็นผู้นำในการทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริงครับ.