"มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน" ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงเรียนในโคราช 50 แห่ง สอนหลักสูตร "ช่างกลระบบราง-โลจิสติกส์" เชื่อมต่อระบบการศึกษาจากระดับชั้นมัธยมศึกษา สู่ระดับชั้นอุดมศึกษาอย่างไร้รอยต่อแห่งแรกของประเทศ
วันที่ 19 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมาขึ้น โดยมี ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ ดร.สมเกียรติ ชิตไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ซึ่งมี ดร.อุดม พรมพันธ์ใจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นพยาน พร้อมกับมีผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา ทั้ง 50 แห่ง, คณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และตัวแทนนักเรียน นักศึกษาในสังกัด ร่วมในพิธีกว่า 100 คน
...
ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ ทาง มทร.อีสาน จะสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการด้านระบบรางและการขนส่ง รวมถึงร่วมกันใช้เทคโนโลยี ครุภัณฑ์ สื่อการเรียนการสอน และสถานที่ เพื่อถ่ายทอดแลกเปลี่ยน และพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาศักยภาพให้แก่นักเรียน นำไปสู่การพัฒนาด้านกายภาพสังคม และเศรษฐกิจของไทยในอนาคต นอกจากนี้จะมีการให้โควตาคัดพิเศษ (รอบที่ 1) แก่โรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัด สพม.นครราชสีมา ทั้ง 50 แห่งอีกด้วย
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการในวันนี้ เป็นการเชื่อมต่อของระบบการศึกษา จากระดับชั้นมัธยมศึกษา มาสู่ระดับชั้นอุดมศึกษาอย่างไร้รอยต่อ โดยทาง มทร.อีสาน ตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำเรื่องนี้นำร่องเป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ นักเรียน, นักศึกษา
ทั้งนี้ มทร.อีสาน ตั้งเป้าไว้ว่าทุกศาสตร์ที่มีการสอนใน มทร.อีสาน โดยเฉพาะวิชาการด้านระบบโลจิสติกต์ และระบบราง เด็กๆ ที่ได้โควตาเก่งๆ มาเรียนที่นี่ จะได้พัฒนาการเรียนได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งได้ 3 ภาษา คือ ไทย, อังกฤษ และจีนอีกด้วย ที่สำคัญทาง มทร.อีสาน ได้ทำระบบรีดีกรีให้นักศึกษาสามารถเรียนจบระดับชั้นปริญญาตรีได้ภายใน 3 ปี ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ
ทางด้าน ดร.อุดม พรมพันธ์ใจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ให้มาช่วยขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ และมีศักยภาพด้านการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ โดย รมว.ศึกษาธิการ เน้นนโยบายว่า เด็กต้องเรียนดี และมีงานทำระหว่างเรียนด้วย ดังนั้นที่นี่จะเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่ตนเองมาประสานงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเฉพาะการคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดี มาเรียนสายช่างกล ซึ่งภาพลักษณ์เด็กช่างทุกวันนี้ไม่ค่อยดีนัก จึงจำเป็นจะต้องสร้างภาพลักษณ์เด็กช่างให้ดีขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาเป็นต้นไป ตนเชื่อว่าศักยภาพของ มทร.อีสาน ซึ่งมีสาขาอยู่ 7-8 แห่ง จะสามารถขับเคลื่อนงานนี้ได้เป็นอย่างดีเยี่ยมแน่นอน
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ชิตไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะส่งผลดีใน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกนักเรียนในสังกัดของ สพม.นครราชสีมา จะได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในสาขาที่ มทร.อีสาน เปิดใหม่ คือสาขาระบบรางและการขนส่ง ซึ่งจะตอบโจทย์ได้ว่าเด็กนักเรียนเรียนจบไปแล้วมีงานทำแน่นอน 100% เพราะสาขานี้เป็นที่ต้องการของตลาดมากในอนาคต
ส่วนที่ 2 จะเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างบุคลากรของโรงเรียน กับ มทร.อีสาน ซึ่งจะมีการประสานการทำงานแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ตอนนี้เด็กนักเรียนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งทาง มทร.อีสาน จะให้โควตาโรงเรียนในสังกัด สพม.นครราชสีมา ทั้ง 50 แห่ง โรงเรียนละ 8 คน โดยโรงเรียนในสังกัดขณะนี้มีทั้งหมด 50 โรงเรียน มีนักเรียนตั้งแต่ระดับ ม.1-ม.6 อยู่ทั้งหมดกว่า 64,000 คน ในแต่ละปีจะมีนักเรียนจบชั้น ม.6 ประมาณปีละกว่า 8,000 คน ซึ่งเด็กที่เรียนจบไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีบางส่วนเท่านั้นที่จะต่อสายช่างกล ดังนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ก็คาดหวังว่าจะสามารถช่วยทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนในสาขาที่สามารถการันตีได้ว่าจบออกไปมีงานทำแน่นอน.