กรมควบคุมโรค แนะนำวิธีป้องกันสุขภาพจากปัญหา ฝุ่น PM 2.5 โดยทำตามข้อปฏิบัติ "รู้-ลด-เลี่ยง"

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เพจเฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความระบุว่า เตือนคนไทยให้ รู้-ลด-เลี่ยง ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาสุขภาพที่ต้องระวัง ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษอากาศที่สำคัญของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายปี

ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการจราจร (ไอเสียรถยนต์) การเผาป่า การเผาเศษพืชผลทางการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม หมอกควันข้ามแดน ปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ภาวะความกดอากาศสูงที่ทําให้เกิดภาวะอากาศปิด 

นอกจากนี้ ยังเกิดจากการรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซต์ (SO2) และออกไซต์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ซึ่งผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มระดับความรุนแรงต่อสุขภาพร่างกายของเรา จากการสะสมของฝุ่นละอองภายในปอดเป็นระยะเวลายาวนาน โดยระดับของอาการจะรุนแรงแตกต่างกัน ดังนี้

1. ไอ จาม และภูมิแพ้ : พบได้เมื่อมีฝุ่นละอองเข้าไปสะสมในโพรงจมูก เวลาที่หายใจเข้าและออก ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองในจมูกและลำคอ มีเสมหะ ไอ จาม โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีอาการภูมิแพ้กำเริบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง : พบได้ในกรณีที่เป็นอาการไอต่อเนื่องนาน 3-8 สัปดาห์ขึ้นไป มีเสมหะเป็นสีขาว สีเหลือง หรือมีเลือดปน นอกจากนี้จะรู้สึกเกิดอาการเหนื่อย โดยอาจเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

...

3. โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง : พบได้ในกรณีที่ฝุ่นละอองเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดและผนังหัวใจ อาการที่พบคือ มีอาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น เหนื่อยหรือแน่นขณะออกแรง ซึ่งอาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือเสียชีวิตได้

4. โรคปอดเรื้อรัง และมะเร็งปอด : พบได้ในกรณีที่สูดเอาฝุ่นละออง PM 2.5 สะสมเข้าไปเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมากหมดเรี่ยวแรง หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ซึ่งอาจรุนแรงและกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่อาจลุกลามไปทั่วปอด เกิดเป็นโรคมะเร็งปอดได้

โดยฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่พบเจอ และอาจเป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มอาจเกิดโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็ก เด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ต้องปฏิบัติงาน หรือออกกำลังกายในสถานที่กลางแจ้ง เป็นต้น

#โรคร้ายๆ วัยทำงาน ขอแนะนำ 3 แนวทางรับมือและป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่จำง่ายๆ มาฝากกับ "รู้-ลด-เลี่ยง"

รู้ : ตรวจสอบสภาพอากาศทุกครั้งก่อนเดินทางออกจากบ้าน ผ่านการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในแอปพลิเคชัน Air4thai และเพจ "คนรักอนามัย ใส่ใจ อากาศ PM 2.5" หรือติดตามข่าวสารตามช่องทางต่างๆ ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข

ลด : ลดการสร้างมลพิษ ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษ ปิ้งย่างที่ทําให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ เผาพืชผลทางการเกษตร เป็นตน รวมถึงการติดเครื่องยนต์ในบ้านเป็นเวลานาน 

เลี่ยง : หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองสูง การอยู่กลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมนอกอาคารเป็นเวลานาน ในช่วงที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีปริมาณมากกว่า 26-37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป โดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ

การป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยแนวทางที่เหมาะสมจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ชีวิตและปฏิบัติงาน โดยเราควรความตระหนักและเฝ้าระวังสุขภาพอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคจากฝุ่นละออง ทั้งต่อตนเองและคนรอบตัวอีกด้วย ดังนั้น อย่าลืมแนวทาง "รู้-ลด-เลี่ยง" ไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันกันด้วยนะคะ 

โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เป็นโรคและการเจ็บป่วยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562

ที่มา : แนวทางมาตรการการเฝ้าระวังสุขภาพและสื่อสารความเสี่ยง เพื่อสร้างความรอบรู้ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5), กองโรคติดต่อจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข