ทำความรู้จักโอมิครอน "JN.1.4" สายพันธุ์ล่าสุดจากตระกูล BA.2.86 (Pirola) คาดมาแทนที่ JN.1 ในไทยพบแล้วอย่างน้อย 12 ราย

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 แฟนเพจ Center for Medical Genomics ของ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความว่า มาทำความรู้จักโอมิครอน "JN.1.4" สายพันธุ์ล่าสุดจากตระกูล BA.2.86 (Pirola) ที่คาดว่าจะมาแทนที่ JN.1

โอมิครอน (BA.2.86-->JN.1-->JN.1.4) มีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วในทุกเดือนเพื่อต่อสู้และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกาย พบโอมิครอน JN.1.4 ในประเทศไทยแล้วอย่างน้อย 12 ราย (ภาพ 2B)

การระบาดของโควิด-19 ได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ทั่วโลกยังคงพบการกลายพันธุ์ของไวรัสมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโอมิครอน BA.2.86 หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือพิโรลา (Pirola) ซึ่งตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 จากตัวอย่างจากประเทศเดนมาร์ก 

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกรวมทั้งองค์การอนามัยโลกในขณะนั้นมีความกังวลเพราะจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนไปมากกว่า 30 ตำแหน่งบนส่วนหนาม เมื่อเทียบกับ "บรรพบุรุษโอมิครอน BA.1/BA.2" ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองมาจากสายพันธุ์เดลตา

แต่อาจถือเป็นโชคดีของมนุษย์ที่แม้โอมิครอน BA.2.86 จะมีการกลายพันธุ์ไปมากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมแต่กลับแพร่ระบาดได้ไม่ดีนัก เพราะจนถึงปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.86 เพียง "653 ราย" 

อย่างไรก็ตามทั่วโลกคลายความวิตกได้เพียงเดือนเดียว โอมิครอน BA.2.86 ไม่ยอมแพ้ต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่สร้างสะสมมาอย่างต่อเนื่องนานเกือบ 5 ปี จากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติโดยได้เกิดการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามขึ้น 1 ตำแหน่ง คือ “L455S” เกิดเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยรุ่นลูก JN.1 (B.1.1.529.2.86.1.1) ทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ยอดผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตทั่วโลกจากโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

...

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า พบโอมิครอน JN.1 ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในสหรัฐฯขณะนี้ ปัจจุบันสุ่มพบโอมิครอน JN.1 ในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกถึง "50,366 ราย" ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ข้อมูลไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) 

โอมิครอน JN.1 มิได้หยุดยั้งการกลายพันธุ์ ได้มีการกลายพันธุ์ไปอีกหนึ่งตำแหน่งบริเวณยีน ORF1a ที่ตำแหน่ง T170I เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อย JN.1.4 พบตั้งแต่กันยายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นมาจำนวน 18,243 รายจากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก 

ทีมวิจัยของ ดร. ราเชนทราม ราชนารายณ์ จาก "NYITCOM" ของมหาวิทยาลัยรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในสหรัฐฯ อันดับที่หนึ่งคือโอมิครอน JN.1 (46.9%) อันดับสองคือ โอมิครอน JN.1.4 (25.2%) 

@RajlabN

#COVID19 #VariantDashboard - #USA 

#SARSCoV2 #Lineages #30DAYTRENDS   

JN.1  (46.9%)

**JN.1.4  (25.2%)**

JN.1.1  (4.7%)

HV.1  (3.1%)

JN.1.8.1  (2.5%)

JN.1.7  (2.3%)

JN.1.2  (1.4%)

JN.1.9  (1.2%)

จากการวิเคราะห์จากข้อมูลจีโนมจากฐานข้อมูลโควิดโลก (GISAID) ผ่าน CoV-Spectrum อันเป็นแพลตฟอร์มสำรวจข้อมูลจีโนม SARS-CoV-2 พบว่า

- ทั่วโลกพบโอมิครอน JN.1.4 จากผู้ติดเชื้อ 18,242 ราย มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ 36% หรือ 1.36 เท่า (ภาพ1A)

- ประเทศสหรัฐฯ พบโอมิครอน JN.1.4 จากผู้ติดเชื้อ 7,430 ราย มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในสหรัฐฯ ขณะนี้ 41% หรือ 1.41 เท่า (ภาพ 1B)

- ประเทศเยอรมนีพบโอมิครอน JN.1.4 จากผู้ติดเชื้อ 247 รายมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในเยอรมนีขณะนี้ 43% หรือ 1.43 เท่า (ภาพ2A)

- ประเทศไทยพบโอมิครอน JN.1.4 จากผู้ติดเชื้อ 12 รายมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในไทยขณะนี้ 36% หรือ 1.36 เท่า (ภาพ2B)

- ในขณะที่ทั่วโลกพบโอมิครอน JN.1.4 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า JN.1 ที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ไม่มากคือ 1% หรือ 1.01 เท่า คาดว่าค่าความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดของ JN.1.4 จะปรับเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าและระบาดเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่โอมิครอน JN.1 (ภาพ3)

ทางศูนย์จีโนมฯ เป็นส่วนหนึ่งในทีมเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดด้วยการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมเป็นระยะ หากพบความผิดปรกติจะแจ้งให้ทุกภาคส่วนทราบในทันทีเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ที่อาจก่อให้เกิดโรครุนแรงจากการกลายพันธุ์ไปเพียงไม่กี่ตำแหน่งบนจีโนม.