เพจวิศวกรดับเพลิง ใช้หลักการอธิบาย "ลูกบอลดับเพลิง" ใช้แทนถังดับเพลิงได้หรือไม่
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก วิศวกรดับเพลิง ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบดับเพลิง ได้โพสต์อธิบายเรื่อง "ลูกบอลดับเพลิง ใช้แทนถังดับเพลิงได้หรือเปล่า"
โดยระบุว่า สวัสดีครับพี่น้องวิศวกรดับเพลิงทุกท่าน วันนี้แอดฯ มาในประเด็นที่คิดว่า ช่วงหลังๆ มานี้ หลายๆ ท่านน่าจะมีโอกาสพบเจออุปกรณ์ในรูปภาพกันเยอะขึ้นแน่ๆ (ไม่ว่าจะของแท้ หรือของผิดลิขสิทธิ์ก็ตาม) แอดฯ เองก็มีเจออยู่เรื่อยๆ โดยรูปนี้เป็นรูปที่เพิ่งเจอล่าสุดที่ต่างจังหวัด และเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ควรนำมาให้ #วิศวกรดับเพลิง ได้ถกกัน
และจากที่เห็นคงมีคำถามว่า สรุปมันคืออะไร ฟังก์ชันมันคืออะไร ใช้แทนอะไรได้บ้าง จริงๆ แล้วอุปกรณ์ในภาพ ถูกเรียกว่า ลูกบอลดับเพลิง
วิธีการทำงาน
ภายในก็บรรจุผงเคมีแห้ง เหมือนกันกับถังดับเพลิงนี่แหละครับ และมีชนวนที่ถูกซ่อนไว้ เมื่อโยนลูกบอลเข้าไปในความร้อน ชนวนก็จะทำงาน และลูกบอลก็จะระเบิดออกพร้อมกับการฟุ้งกระจายของผงเคมีแห้งไปทั่วบริเวณ
ทำงานอัตโนมัติ 3-5 วินาที เมื่อลูกบอลสัมผัสเปลวไฟ สารเคมีกระจายรอบทิศทาง 360 องศา เมื่อลูกบอลทำงานปกคลุมพื้นที่ 1.80 ลบ.ม. เสียงสัญญาณเตือนภัย 110-139 dB เมื่อลูกบอลสัมผัสเปลวไฟ จะทำงานพร้อมส่งสัญญาณและดับเพลิงในทันที
อ้างอิงเว็บไซต์นี้เป็นคนละยี่ห้อกับอุปกรณ์ในรูปนี้ครับ แต่หลักการทำงานเหมือนกัน การใช้งาน ใช้โยนเข้ากองเพลิงเพื่อดับไฟ หรือติดตั้งในบางพื้นที่ เช่น ติดตั้งเหนือตู้ไฟฟ้าที่เราคิดว่ามีความเสี่ยงอัคคีภัย เป็นต้น (อันนี้อ้างอิงจากคนขายนะครับ)
...
พออ่านๆ ดูแล้ว...เอ๊ะ สารเคมีก็เป็นแก๊งเดียวกับถังดับเพลิง งี้ก็ใช้แทนได้สินะ
คำตอบคือ ไม่ใช่...นะครับ
เอาในแง่ของกฎหมายก่อนนะครับ กำหนดไว้มากมายในหลายกระทรวงโดยใช้คำว่า เครื่องดับเพลิงชนิดมือถือ หรือเครื่องดับเพลิงชนิดยกหิ้ว ฉะนั้น ลูกบอลนี้ ไม่ได้เข้านิยาม
ต่อมา...ในแง่มาตรฐาน ไม่ได้มีระบุอุปกรณ์นี้ไว้ ทั้งมาตรฐานสากล และ วสท. บ้านเรา ฉะนั้นหากสายงานวิศวกรดับเพลิงจะอ้างอิง ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณวิศวกร ก็ไม่มีแหล่งที่มาอ้างอิง ก็ทำให้การทำงานนั้นไม่สอดคล้อง
ทำไม...มาตรฐานถึงไม่เขียนระบุอุปกรณ์นี้ไว้
1. อาจเป็นเพราะนี่คือสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้แพร่หลายอะไรมากนัก จนจะถึงขั้นที่มาตรฐานสากล จะนำไปเขียนไว้ให้
2. ด้วยฟังก์ชันการทำงาน มันยังไงนะ
2.1 มันต้องโยนเข้ากองเพลิง เหมือนโยนเปตอง ฉะนั้น หากเป็นพื้นที่โล่ง การโยนให้ลูกบอล ไปตรงที่กองเพลิง หรือกลิ้งไปแล้วหยุดที่กองเพลิง คงทำได้ยาก คงต้องซ้อมโยนกันรัวๆๆ และไม่สามารถการันตีความแม่นยำในการโยนได้
และยังมีปัจจัยภายนอกอื่นอีก ที่เป็นปัจจัยใหญ่มารบกวนการใช้งาน จนทำให้ความแม่นยำลดลง คือ ความตื่นตระหนก ตกใจ ของผู้ที่พบเจอเพลิงไหม้ อาจทำให้ความสามารถในการโยนที่แม่นยำนั้น "ลดลง" เช่น การอยู่ในอาการตกใจ อาจทำให้ "อะดรีนาลีน" หลั่งมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดพละกำลังที่มากกว่าปกติ จนทำให้การโยนลูกบอลนั้นผิดพลาด
2.2 การติดไว้เหนือพื้นที่เสี่ยง ในมุมมองแอดฯ คิดว่าโอกาสที่อุปกรณ์จะทำงานได้ มีสูงมากๆๆ แต่ว่าประสิทธิภาพนั้น ไม่แน่ใจเท่าไรนัก เพราะ
- เพลิงไหม้เกิดภายในตู้ไฟฟ้า แต่การระเบิดของลูกบอลเกิดขึ้นภายนอก อาจสามารถดับได้แค่ไฟที่แล่บออกมา ส่วนต้นเพลิงจริงๆ นั้น อาจยังคงลุกไหม้อยู่
- การทำงานเอง เมื่อได้รับความร้อนถือว่าเป็น "อุปกรณ์อัตโนมัติ" นะครับ เพียงแต่ไม่ใช่ "ระบบอัตโนมัติ" หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ลับตา แล้วลูกบอลระเบิดตู้ม แต่ไฟไม่ดับ เราจะไม่รู้เรื่องเลย เพราะมันไม่ใช่ระบบ ไม่มีการแจ้งเตือนการทำงานของระบบให้เราทราบ
ด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ข้อนี้ ทำให้ไม่สามารถติดตั้งลูกบอลเพื่อแทนที่ถังดับเพลิง ไม่สามารถติดตั้งลูกบอลเพื่อแทนที่ระบบดับเพลิงอื่น
สิ่งที่ทำได้คือ ใช้เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมเฉพาะจุด โดยที่ระบบหลักตามกฎหมาย, ตามมาตรฐาน จะยังคงต้องติดตั้งและพร้อมทำงานอยู่ตลอดเวลา การติดตั้งลูกบอลเป็นอุปกรณ์เสริมเฉพาะจุด จึงจะสามารถทำได้ครับ
ว่าแต่ แต่ละท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง มาถกกันครับ.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก วิศวกรดับเพลิง