• คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว MDCU Change for the Better หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567) สำหรับนิสิตที่จะเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 
  • เปลี่ยนจากการวัดผลแบบตัดเกรดมาเป็น การประเมินความสามารถในการนำความรู้ไปใช้ มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อเป็นแพทย์ ลดความเครียดที่ไม่จำเป็นจากความคาดหวังที่วัดค่าด้วยเกรด

เมื่อ "เกรด" คือ เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ละสายการเรียน ทำให้มีหลายครั้งที่เราจะเห็นข่าวเด็กที่เครียดจากการสอบวัดผล ไม่ว่าจะเป็นระดับชั้นเรียนไหนก็ตาม 

แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะไม่มีการนำ "เกรด" มาวัดประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กอีก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงข่าวเปิดตัว MDCU Change for the Better หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567) สำหรับนิสิตที่จะเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ที่เปลี่ยนกระบวนการวัดประเมินผลนักเรียนทั่วโลก จากการวัดความรู้ปลายภาคตัดเกรด A-F มาเป็นการประเมินความสามารถในการนำความรู้ไปใช้ โดยแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่จุฬาฯ ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ ถือเป็นคณะแรกที่ปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินผู้เรียนทั้งคณะ

...

โดยหลักสูตรใหม่ที่จะวัดผลแบบใหม่ จะยกเลิกการประเมินแบบเกรด A-F เนื่องจากพบว่า เป็นสาเหตุทำให้เด็กเครียด โดยเปลี่ยนมาเป็นการประเมิน S/U (Satisfactory/Unsatisfactory) หรือผ่าน/ตก โดย S หมายถึงเมื่อผ่านเกณฑ์การประเมินผลระดับรายวิชาได้อย่างครบถ้วน ส่วนนิสิตที่สอบได้ U หรือไม่ผ่านการประเมิน ก็สามารถสอบซ้ำได้ 1 ครั้ง ทั้งนี้ คณะจะจัดให้มีการสอบซ้ำ โดยยึดหลักเกณฑ์ตามที่ประกาศ

ซึ่งนอกจากการปรับเปลี่ยนการตัดเกรดแล้ว ในหลักสูตรใหม่ของแพทย์จุฬาฯ จะมีการปรับแผนการศึกษา และกระชับเนื้อหาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของนิสิตเพิ่มขึ้น, เรียนรู้เนื้อหาทางการแพทย์ และสัมผัสประสบการณ์ของความเป็นแพทย์ในปีแรกๆ ของหลักสูตรเพิ่มขึ้น และมีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นด้วย

เหตุผลที่มีการปรับเปลี่ยนการตัดเกรดในหลักสูตร

  • การสร้างสมดุลใหม่ระหว่าง การสร้างแพทย์ที่สังคมไว้ใจ กับการดูแลสุขภาวะของนิสิต
  • ส่งเสริมให้นิสิตมุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อเป็นแพทย์ ลดความเครียดที่ไม่จำเป็นจากความคาดหวังที่วัดค่าด้วยเกรด
  • เปิดโอกาสให้นิสิตได้เติบโตและพัฒนาความเป็นแพทย์ในแบบของตัวเอง
  • เป็นการพัฒนาการประเมินผลให้ทัดเทียมกับโรงเรียนแพทย์ชั้นนำระดับโลก

ถ้ารู้แค่ผ่าน หรือตก นิสิตจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร

เรื่องนี้ ทางคณะฯ ได้อธิบายว่า ทางคณะจะมีรายงานผลการศึกษาโดยละเอียดให้กับนิสิตแต่ละคน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้พัฒนาตัวเองได้

ส่วนนิสิตที่ต้องเรียนต่อเฉพาะทางนั้น ก็ไม่ต้องกังวลว่า จะไม่มีอะไรไปแสดง เนื่องจาก ทางคณะฯ ได้เชิญอาจารย์ผู้ดูแลการคัดเลือกแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาวิชามาประชุมร่วมกันแล้ว เห็นว่า ให้คณะฯ จัดทำระเบียนประวัติเพื่อแสดง “ความเป็นแพทย์ในแบบของนิสิตแต่ละคน” ซึ่งประกอบด้วย วิชาที่เลือกเรียน รางวัล ผลงานวิจัย นวัตกรรม ประวัติการทำกิจกรรมที่โดดเด่น และความเป็นเลิศ (Excellence)

โดยคณะฯ จำแนกความเป็นเลิศ (Excellence) ในการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เป็น 3 ด้าน คือ

  • ความเป็นเลิศด้านวิชาการ
  • ความเป็นเลิศด้านสมรรถนะและการปฏิบัติงาน
  • ความเป็นเลิศด้านความเป็นวิชาชีพ

เพื่อส่งเสริมให้บัณฑิตแพทย์จุฬาฯ พัฒนาตนเองทั้งด้านความรู้ ทักษะ และจิตวิญญาณของความเป็นแพทย์อย่างรอบด้าน

ยังคงมีเกียรตินิยมหรือไม่

เรื่องนี้ ด้วยความที่คณะฯ ตระหนักถึงความคาดหวังของนิสิตและผู้ปกครองในช่วงเปลี่ยนผ่านแนวคิดนี้ จึงยังคงไว้ซึ่งการพิจารณาให้ปริญญาเกียรตินิยม ซึ่งการให้ปริญญาเกียรตินิยม จะพิจารณาจาก

  • ความเป็นเลิศในการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้
  • ระยะเวลาการศึกษา
  • การไม่เคยได้รับสัญลักษณ์ U
  • การไม่เคยถูกตัดคะแนนความประพฤติ
  • การไม่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ