ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แนะภาครัฐบาล ร่วมมือกับภาคเอกชน จับมือกันทำ Trendsetter เพื่อกำหนดเทรนด์เครื่องประดับในแต่ละปี มั่นใจนี่จะเป็น Soft Power เมื่อพูดถึงเครื่องประดับ คนทั่วโลกจะนึกถึงไทย

นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2567 นี้แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจะยังคงทรงตัว และมีแนวโน้มขยายตัวลดลงกว่าปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ แม้ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในหลายประเทศยังน่ากังวล ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบ มีความผันผวนตลอดเวลา ทำให้ตัวเลขการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีการเติบโตที่ไม่ดีเท่าที่ควร

หากย้อนกลับไปดู มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 13,814 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 14,543 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่หากหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 8,251 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7,514 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยไทยถือเป็นแชมป์ส่งออกเครื่องประดับเงินมากที่สุดในโลก ซึ่งตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งเป็นการส่งออกและส่งออกต่อ (Re-Export) ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นยังมีการส่งออกที่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา และอินเดีย ซึ่งยอดการสั่งซื้อของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเราคาดการณ์ว่าเป็นจะการ Re-Export เช่นกัน

...

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า แท้จริงแล้วอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ของไทยยังมีช่องทางการเติบโตสูงกว่านี้ในทุกๆ ด้าน สิ่งที่ผมและผู้ประกอบการอยากจะฝากรัฐบาล คือ อยากให้ภาครัฐผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เราไม่ได้ไม่อยากให้พึ่งพิงการส่งออกทองคำเป็นหลัก เนื่องจากไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้แต่เป็นการลงทุนอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการส่งออกเครื่องประดับจะเป็นการสร้างรายได้อย่างแท้จริงให้กับผู้ประกอบการที่ยังรักษาการผลิตได้ดี รวมถึงจะมีการจ้างแรงงานมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราอยากให้รัฐบาลสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเครื่องประดับของไทยมีจุดเด่นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือที่ประณีต ขั้นตอนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การเผาพลอย การทำตัวเรือนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทาง รวมถึงการดีไซน์เครื่องประดับต่างๆ จากนักออกแบบไทยที่มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าเรามีความพร้อมทุกๆ ด้าน ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้เริ่มค้นคว้านำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อช่วยเหลือด้านการผลิตที่มากขึ้นแต่ยังคงประสิทธิภาพและคุณค่าของเครื่องประดับไว้เช่นเดิม

นอกจากนี้ ผมอยากให้ภาครัฐกับหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำ Trendsetter หรือผู้นำเทรนด์เครื่องประดับ ที่ผ่านมาแบรนด์เครื่องประดับดังๆ ของโลกก็มาใช้แรงงานไทยผลิต เพราะคนไทยมีฝีมือในด้านนี้ ซึ่งหากเรารวมตัวกันสร้างผู้นำเทรนด์กำหนดทิศทางเครื่องประดับในแต่ละปี เราจะไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน

โดยก่อนหน้านี้ประเทศอิตาลีทำมาก่อน แต่เมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้วจะพบว่า เรามีฐานการผลิตที่ใหญ่กว่าอิตาลี ผู้ประกอบการเครื่องประดับในไทยมีเป็นจำนวนมาก เราควรรวมตัวกันเพื่อสร้าง GIMMICK ซึ่งถ้าไทยไม่มีเทรนด์เซ็ตเตอร์ เราจะกลายเป็นแค่ผู้ผลิต OEM เพียงอย่างเดียว

"ผมมองว่าไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก หรือ Gems and Jewelry Hub หากรัฐบาลมีการผลักดันและภาคเอกชนร่วมมือ ร่วมใจ มุ่งมั่นพัฒนา ผมเชื่อว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้ และนี่จะเป็น Soft Power สำคัญเมื่อพูดถึงเครื่องประดับคนทั่วโลกจะนึกถึงประเทศไทย และงานฝีมือคนไทยอีกด้วย"