สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายคลิปปรากฏการณ์ "พระอาทิตย์ 2 ดวงซ้อนกัน" อาจเป็นภาพสะท้อนจากกระจก
วันที่ 22 มกราคม 2567 จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อมูลจากผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง ได้เผยคลิปพระอาทิตย์กำลังตกดิน แต่กลับเห็นพระอาทิตย์ 2 ดวงซ้อนกัน จนกลายเป็นเรื่องราวฮือฮาที่ถูกพูดถึงกันนั้น
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้อธิบายถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอลงในสื่อออนไลน์ ปรากฏภาพของดวงอาทิตย์สีแดงซ้อนกัน 2 ถึง 3 ดวง จนได้รับความสนใจและถูกแชร์ไปในวงกว้าง รวมถึงมีการแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จากการหลักฐานที่มีเพียงวิเคราะห์คลิปวิดีโอดังกล่าว เบื้องต้น เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากภาพสะท้อนกระจก
ในเบื้องต้นนั้น ปรากฏการณ์ที่สามารถทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏได้หลายดวงนั้นมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่การสะท้อนภายในเลนส์ของกล้องเอง (lens glare) การสะท้อนกับกระจกอาคาร ไปจนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ ซึ่งหากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการสะท้อนภายในกล้องนั้น จุดสังเกตคือ ตำแหน่งของแสงมักเปลี่ยนตามมุมของกล้องที่ส่ายไปมา (ซึ่งไม่ปรากฏในวีดีโอนี้) และปรากฏการณ์นี้จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ส่วนปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศที่อาจสะท้อน และหักเหแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้สามารถสังเกตเห็นแสงจากดวงอาทิตย์ในมุมที่เปลี่ยนไปได้นั้นก็มีอยู่ด้วยกันอยู่หลายปรากฏการณ์ เช่น Sun Dog, Sun Pillar, Novaya Zemlya effect ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดจากชั้นบรรยากาศตามธรรมชาตินั้น มักจะมีสมมาตร ไม่ว่าจะเป็นแบบวงกลม (เช่น รุ้งกินน้ำ หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด) ตามแนวนอน (เช่น Sun Pillar และ Novaya Zemlya) หรือตามแนวตั้ง (เช่น Sun Dog) สืบเนื่องมาจากรูปร่างทรงกลมของหยดน้ำ และการสะท้อนภายในผลึกน้ำแข็งในชั้นบรรยากาศที่กำลังตกลงตามแรงโน้มถ่วง ตามลำดับ
...
แต่หากสังเกตจากวิดีโอ จะพบว่า "ปรากฏการณ์" ที่สังเกตเห็นได้นั้น มีภาพลวงของดวงอาทิตย์ปรากฏในแนวที่เฉียงออกไปในทิศทางเดียว ขัดแย้งกับสมมาตรที่สามารถพบได้ในชั้นบรรยากาศ เป็นการยากที่จะอธิบายว่าอนุภาคในอากาศจะต้องมีการเรียงตัวกันอย่างไร
จึงจะสามารถสังเกตเห็นภาพลวงของดวงอาทิตย์ที่เฉียงไปทางบนขวาเพียงอย่างเดียวได้ ทั้งนี้ หากสังเกตจากภาพดวงอาทิตย์สองดวงที่มีการเผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากนิวซีแลนด์ หรือจากจีน ต่างก็พบว่ามีการเรียงตัวของดวงอาทิตย์ในแนวราบด้วยกันทั้งนั้น
นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้วพื้นผิวที่เกิดการสะท้อนหรือหักเหในชั้นบรรยากาศนั้นมักจะมีลักษณะที่เบลอไม่ได้เป็นขอบที่ชัดเจน สืบเนื่องมาจากระนาบการสะท้อนแสงที่ซ้อนกันหลายระนาบตลอดทั้งมวลอากาศ ในขณะที่ภาพดวงอาทิตย์ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ดังกล่าวมีขอบชัดเจน จึงบ่งชี้ว่าเกิดจากการสะท้อนจากพื้นผิวแบนราบ ที่มีความหนาเพียงแผ่นบางๆ ในระนาบเดียว ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับการสะท้อนจากชั้นบรรยากาศ
ยังมีปริศนาอีกว่า หากชั้นบรรยากาศสามารถเบี่ยงทิศทางแสงอาทิตย์ได้ แล้วเพราะเหตุใดสมมาตรวงกลมของดวงอาทิตย์ดวงเดิมจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป (โดยเฉพาะเมื่อภาพลวงตาดังกล่าวซ้อนทับกับดวงอาทิตย์อยู่)
ซึ่งหากสังเกตจากปรากฏการณ์ Novaya Zemlya ทั่วๆ ไปนั้น จะพบว่าดวงอาทิตย์เดิมนั้นไม่ได้ปรากฏเป็นวงกลมที่สมมาตรอีกต่อไป และแม้กระทั่งปรากฏการณ์ที่พบในนิวซีแลนด์ หรือจีน ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ปรากฏดวงอาทิตย์ที่มีขอบเป็นวงกลมซ้อนกันด้วยกันทั้งนั้น
ด้วยเหตุที่ภาพที่ปรากฏนั้น เป็นดวงอาทิตย์ที่มีขอบคมซ้อนทับกันเป็นแนวเฉียงในทิศทางเดียว โดยไม่ได้ยืดออกแต่อย่างใด จึงสามารถสรุปได้ว่า วัตถุที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาพซ้อนกันนั้น ควรจะเป็นวัตถุที่มีการเรียงตัวเป็นระนาบแผ่นบางเพียงแผ่นเดียว ซึ่งวัตถุที่น่าจะเป็นมากที่สุดในกรณีนี้ ก็น่าจะเป็นกระจกของอาคารที่ถ่ายอยู่นั่นเอง.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ