อ.เจษฎา ให้ความรู้ตามหลักการวิทยาศาสตร์ หลังโซเชียลแชร์คลิปไวรัล พระอาทิตย์ 2 ดวงซ้อนเหลื่อมกันที่ประเทศไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร

วันที่ 22 มกราคม 2567 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ให้ความรู้กรณีผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง ได้เผยคลิปพระอาทิตย์กำลังตกดิน แต่กลับเห็นพระอาทิตย์ 2 ดวงซ้อนกัน 

โดยระบุข้อความว่า "ปรากฏการณ์ พระอาทิตย์ 2 ดวง 19 มกราคม 2567 ปรากฏการณ์ธรรมชาติ" โดยในคลิปได้อธิบายว่า "นี่คือเหตุการณ์จริง ตอนนี้เราอยู่ชั้นที่ 26 ของธนาคารกสิกรไทย ตอนนี้เราเห็นดวงอาทิตย์ ตอนแรกคิดว่าเราตาฝาด แต่ทำไมมันรู้สึกว่าเหมือนเห็นพระอาทิตย์ 2 ดวง" จากนั้นได้ซูมให้ดูว่าพระอาทิตย์ 2 ดวงเป็นลักษณะซ้อนกันอยู่จริงๆ (ดูคลิป)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา อธิบายว่า การที่เรามองเห็นพระอาทิตย์เป็น 2 ดวงอยู่ด้วยกันแบบนี้ ถ้าเห็นด้วยตาเปล่าจริงๆ (ไม่ใช่ผลจากแสงสะท้อนของเลนส์หรือกระจก) ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกและหาดูได้ยาก โดยเฉพาะถ้าถึงขนาด "แยก" เป็นดวงอาทิตย์ 2 ดวง "อยู่ข้างกัน" (ดูภาพประกอบ) ซึ่งเคยมีรายงานบ้างในต่างประเทศ (ไม่ใช่แค่ซ้อนเหลื่อมกัน อย่างที่ในคลิปติ๊กต่อกดังกล่าว)

...

ตัวอย่างเช่น รายงานจากประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา เหตุการณ์เกิดระหว่างช่วงพระอาทิตย์ขึ้นจากด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ที่บริเวณอ่าว Bay of Plenty โดยมีผู้พบเห็นดวงอาทิตย์ 2 ดวง อยู่ข้างกัน ทั้งสองดวงดูสว่างจ้าทั้งคู่ แต่ดวงทางขวา จะดูเล็กกว่าอีกดวงหนึ่งเล็กน้อย แล้วค่อยๆ หายไปในที่สุดระหว่างที่พระอาทิตย์ขึ้น ใช้เวลาประมาณ 3 นาที (จาก 7.32 น. ถึง 7.35 น.)

ซึ่งเหตุการณ์อันน่ามหัศจรรย์นี้ นับว่าเป็นภาพลวงตา (optical illusion) ที่หาดูได้ยากมาก ซึ่งเกิดจากแสงสะท้อนแบบภาพมิราจ (mirage) เมื่ออนุภาคต่างๆ ในชั้นบรรยากาศได้ทำให้เกิดการหักเหแสง (refraction) และมักจะเกิดขึ้นระหว่างที่พระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก เมื่อแสงเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศที่ "หนากว่า" ของโลก ฝุ่นควัน, ก๊าซ และอนุภาคต่างๆ สามารถเปลี่ยนเส้นทางเดินของแสงให้เห็นเป็นภาพที่แปลกได้ ตัวอย่างเช่น ภาพพระอาทิตย์กำลังตกน้ำทะเล (หรือขึ้นจากทะเล) แล้วมีสะท้อนอยู่ที่ผิวน้ำด้วยจนดูคล้ายเป็นเลข 8

นอกจากที่ประเทศนิวซีแลนด์แล้ว ยังเคยมีรายงานในปี ค.ศ. 2011 ที่มีผู้พบเห็นพระอาทิตย์ 2 ดวง เหนือท้องฟ้าประเทศจีน (ดูพระอาทิตย์ 2 ดวง) ซึ่งก็เกิดจากการหักเหแสงอาทิตย์ ผ่านชั้นบรรยากาศที่หนากว่าปกติ จนเกิดเป็นภาพสะท้อนมิราจขึ้น และหาดูได้ยากมากเช่นกัน 

ปกติแล้ว เวลาเราใช้คำว่า "ภาพมิราจ mirage" มันมักจะเป็นกรณีที่อนุภาคต่างๆ ในชั้นบรรยากาศได้ทำให้แสงหักเห หรือเลี้ยวเบน เห็นเป็นภาพสะท้อนเกิดขึ้นในระยะไกล ตามแนวเส้นขอบฟ้า ซึ่งอากาศมักจะมีความหนาแน่นมากกว่า ทำให้ภาพสะท้อนที่ได้นั้นจะเรียงตัวอยู่เหนือ หรืออยู่ใต้แหล่งกำเนิดแสงเดิม ตามแนวดิ่ง (vertical) เช่น ที่เราเห็นภาพแอ่งน้ำอยู่บนถนน หรือบนพื้นทะเล ทั้งที่จริงๆ เป็นภาพสะท้อนจากก้อนเมฆด้านบน (ดูรูปตัวอย่าง)

แต่ไม่ค่อยบ่อยครั้งนัก ที่จะเห็นภาพมิราจมาอยู่ด้านข้าง ดังเช่นปรากฏการณ์พระอาทิตย์ 2 ดวงเช่นนี้ ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่มีก้อนชั้นบรรยากาศที่หนาผิดปกติ เคลื่อนที่มาอยู่ด้านหน้าของดวงอาทิตย์ (หรือดวงจันทร์) และทำให้เกิดภาพสะท้อนจากการหักเหแสงที่ผิดปกติขึ้น โดยกรณีที่เห็นภาพลวงตาของดวงอาทิตย์ (หรือดวงจันทร์) ที่ดูคมชัดและมีขนาดใกล้เคียงกับดวงจริงนั้น นับว่าหาดูได้ยากยิ่ง 

วิธีหนึ่งที่จะตรวจสอบได้ว่า ภาพดวงอาทิตย์ 2 ดวง ที่เห็นจากคลิปเช่นนี้ เป็นเพียงแค่แสงแฟลร์ในเลนส์กล้องหรือเปล่า? คือแสงสะท้อนที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องเคลื่อนที่ย้ายตำแหน่งตามไปด้วย เวลาที่กล้องเคลื่อน ...แต่จะเห็นว่า มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะถึงกล้องจะขยับเคลื่อนที่ เราก็ยังเห็นพระอาทิตย์ดวงที่ 2 ยังคงอยู่นิ่งในตำแหน่งเดิม เหมือนกับที่เห็นด้วยตาเปล่า

มีปรากฏการณ์ภาพลวงตาที่เกี่ยวกับแสงของดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศ อีกหลายอย่างซึ่งพบเห็นได้บ่อยครั้ง และสามารถอธิบายได้ชัดเจนตามหลักวิทยาศาสตร์ จากการหักเหของแสงอาทิตย์ผ่านเกล็ดน้ำแข็งในเมฆในชั้นบรรยากาศ เช่น ปรากฏการณ์ ซันด็อก (sun dog), ภาพมิราจ เวลาพระอาทิตย์ตก (sunset mirage), เสาแสง (sun pillar) และพระอาทิตย์ทรงกลด (sun halo) แต่สำหรับปรากฏการณ์พระอาทิตย์ 2 ดวงอยู่ข้างกันนั้น ยังเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายได้ลำบากว่าเกิดขึ้นอย่างไรกันแน่ 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎา ระบุเพิ่มเติมอีกว่า พระอาทิตย์ในคลิปที่เจอที่ไทยถือว่ายังไม่ได้แปลกและหาดูได้ยากมากเหมือนกับพระอาทิตย์ 2 ดวงอยู่ข้างกัน อย่างที่นิวซีแลนด์ หรือ ที่จีน

ล่าสุด มีรายงานว่า แฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้อธิบายถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอลงในสื่อออนไลน์ ปรากฏภาพของดวงอาทิตย์สีแดงซ้อนกัน 2 ถึง 3 ดวง จนได้รับความสนใจและถูกแชร์ไปในวงกว้าง รวมถึงมีการแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จากการหลักฐานที่มีเพียงวิเคราะห์คลิปวิดีโอดังกล่าว เบื้องต้น เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากภาพสะท้อนกระจก (อ่านต่อ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ คาด คลิปพระอาทิตย์ 2 ดวง อาจเป็นภาพสะท้อนจากกระจก