นักวิชาการ มข. เผยไทยค้นพบแร่ลิเทียม เป็นโอกาสดี แนะรัฐส่งเสริมจริงจัง ทำให้บริสุทธิ์ และทำให้ได้มากกว่าแบตเตอรี่ไฟฟ้า
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ โรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากนักวิชาการ ภายหลังมีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศไทย

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่ มข. กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมใหม่ หรือการประกาศเกี่ยวกับแหล่งแร่โซเดียมในครั้งนี้ เพราะทั้งหมดจะสามารถนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแร่ชนิดใดก็เป็นโอกาสที่ดีที่มีการค้นพบ เพราะจะทำให้มีศักยภาพ และมีส่วนในการทำให้อุตสาหกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เกิดขึ้นในประเทศไทย

...
"การค้นพบแร่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่เกิดขึ้น แต่ว่าหลังจากค้นพบแหล่งแร่แล้วอาจจะต้องทำให้บริสุทธิ์มากขึ้น เพราะหากได้ออกมาเป็นลิเทียมแล้วถึงจะเข้ามาสู่กระบวนการผลิตส่วนประกอบของแบตเตอรี่อีกที ทั้งนี้ มข.อยู่จุดที่ทำให้แร่บริสุทธิ์แล้ว และนำมาผลิตเป็นขั้วแบตเตอรี่ มาผลิตเป็นเซลล์แบตเตอรี่ และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ดีในอนาคตถ้าเราสามารถผลิตขั้วไฟฟ้า หรือส่วนประกอบต่างๆ ที่ใช้แร่ตัวนี้เป็นองค์ประกอบ จะทำให้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เป็นประโยชน์แก่ประเทศในภาพใหญ่ได้"

รศ.ดร.นงลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า การขุดค้นพบครั้งนี้ไม่ทราบว่าจะมีแร่ และทำให้บริสุทธิ์ได้ปริมาณมากเท่าใด และจะมีศักยภาพมากแค่ไหนในการมาสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น แต่ถ้ามีปริมาณเยอะจริงก็เป็นโอกาสที่จะมีอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง และจะต้องทำให้แร่บริสุทธิ์มากขึ้น
ดังนั้นการผลิตวัสดุที่อยู่ในห่วงโซ่อย่างเช่นขั้วไฟฟ้าจะเกิดขึ้นด้วย เพราะการผลิตวัสดุในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีค่าการตลาดสูงจะสามารถสร้างกำไรได้เยอะ และถ้าเกิดขึ้นได้ถึงตรงนั้นจริงๆ คนไทยจะสามารถได้ประโยชน์จากมูลค่าที่เกิดขึ้นจากแร่ตรงนี้

ทั้งนี้ มข. ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้มานานทำงานวิจัยเรื่องนี้มานาน และมั่นใจว่าในเรื่องการทำเทคโนโลยีทำได้อยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีส่วนสนับสนุนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะจากทางภาคอุตสาหกรรม จะทำให้ต่อยอดได้ทำให้คนในประเทศได้รับประโยชน์ในส่วนนี้
"อยากให้มองอุตสาหกรรมแบตเตอรี่นั้นแยกออกจากอุตสาหกรรมอีวี (EV) เพราะว่าการผลิตแบตเตอรี่สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งไม่เฉพาะแต่อีวี แต่อยากให้มองแยกกัน เพราะทั้งหมดจะไปสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดอื่นๆหรือว่าไปเป็นแบตเตอรี่สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีประโยชน์แน่นอน ทั้งนี้สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สามารถทำให้เกิดขึ้นในประเทศเราได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเข้าไปอยู่ในช่วงห่วงโซ่คุณค่าที่ให้ประโยชน์กับประเทศได้มากแค่ไหน ปัจจุบันการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าเราผลิตอยู่แล้วในเมืองไทย
ดังนั้นเราต้องกลับมาคิดว่าคนไทยได้อะไรประโยชน์จากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตแบตเตอรี่จากเทคโนโลยีต่างประเทศ เพราะว่าเราไม่ได้ไปอยู่ในจุดของห่วงโซ่คุณค่าที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในประเทศ จึงอยากให้มองว่านำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเอามาผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า".